คดีอากง
คดีอากง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า "คดีหมายเลขแดงที่ อ. 4726/2554 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ กับอำพล ตั้งนพกุล จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์" เป็นชื่อคดีอาญาในประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 2011
คำกล่าว
[แก้ไข]ศาลอาญา
[แก้ไข] แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้อง...โดยตรงก็ตาม แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน...
จากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใด ๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง... ข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อการส่งข้อความด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องส่งข้อความไปยังระบบคอมพิวเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อข้อความอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลส่งข้อความไปยังหมายเลขปลายทางเมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทางเปิด ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง |
||
ฝ่ายที่สนับสนุนศาลอาญา
[แก้ไข]สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
[แก้ไข] ...ต่างชาติบางประเทศก็ให้ความสนใจ แสดงความห่วงใย วิพากษ์วิจารณ์ศาลยุติธรรมไทยในทางไม่สร้างสรรค์นัก แต่ไม่ว่าความเห็นของสังคมจะสื่อสารในทางใดก็ตาม ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่เคยขัดขวางการแสดงความคิดเห็นของบุคคลใด ๆ ขอเพียงการแสดงออกตั้งอยู่บนฐานคติที่ปราศจากอคติ ภายใต้หลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักนิติธรรม หลักเหตุผล หรือหลักความเชื่อส่วนตนที่สุจริตมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์
แต่ดูเหมือนหลายคนที่วิจารณ์ผลคดีข้างต้นในทางลบยังมิได้รู้เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงในสํานวนความอย่างถ่องแท้... ทุกประเทศจึงควรที่จะต้องให้เกียรติเคารพในความต่างที่เป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมและสังคมของแต่ละประเทศ หากผู้วิจารณ์คนใดยังศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ไม่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้หรือมีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนเพียงพอ ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคมประเทศใดแล้ว การแสดงความเห็นว่า ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่น ในทํานองห่วงใยว่า จะไม่มีมาตรฐานสากลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และหมิ่นเหม่ต่อการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรม อาจทําให้คิดไปว่า ผู้วิพากษ์เจือปนด้วยอคติที่ผิดหลง มีวาระซ่อนเร้น...
|
||
— สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม[1] |
...คดีนี้มีการใช้ถ้อยคําหยาบคาย แสดงความอาฆาตมาดร้าย จาบจ้วง ล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินีด้วยถ้อยคําภาษาที่ป่าเถื่อนและต่ําทรามอย่างยิ่ง เกินกว่าวิญญูชนคนทั่วไปจะพึงพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้กระทําต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระประมุขของประเทศอันเป็นที่เคารพยกย่องเทิดทูนของปวงชนชาวไทยและทั่วโลก ในหลวงทรงครองสิริราชย์มาเป็นเวลากว่าหกสิบห้าปี ทรงครองแผ่นดินด้วยหลักทศพิธราชธรรม ห่วงใยทุกข์เข็ญของอาณาประชาราษฎร์ตลอดเวลา แม้ในยามทรงพระประชวร พระองค์ก็ยังทรงงานเพื่อแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน เช่น อุกทุกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทุ่มเทพระวรกายตลอดพระชนม์ชีพ ทรงงานเพื่อความผาสุกของประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ก็บัญญัติว่า 'องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้' โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมิใช่คู่กรณีที่มีความขัดแย้งสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่จําเลยแม้แต่น้อยนิด รวมทั้งพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองจากมวลชนทุกหมู่เหล่า จึงไม่มีเหตุผลที่จําเลยหรือบางคนจะพยายามบิดเบือนว่า คดีนี้มาจากมูลฐานทางการเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นธรรม และห่างไกลจากความเป็นจริง
|
||
— สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม[1] |
...ผู้กระทําไม่ได้กระทําความผิดแค่ครั้งเดียว แต่มีการกระทําความผิดต่างกรรมต่างวาระด้วยถ้อยคําดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ถึงสี่ครั้ง มีถ้อยคําที่แตกต่างกันทุกครั้ง แสดงถึงเจตนาที่จงใจกระทําผิดกฎหมายอย่างท้าทาย ไม่ยําเกรงอาญาแผ่นดิน ไม่มีจิตสํานึกรู้ผิดชอบชั่วดี เมื่อจําเลยให้การปฏิเสธมาตลอดจนถึงในชั้นศาลจึงไม่มีเหตุลดโทษบรรเทาโทษตามกฎหมาย...
|
||
— สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม[1] |
...แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจําเลยว่า 'อากง' ฟังดูประหนึ่งว่าจําเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้อง จําเลยอายุหกสิบเอ็ดปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใดสามารถเข้าใจ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แสดงว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด
สําหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทําร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุขอันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติ ให้เกิดความหลงผิด ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทําผิด ลงโทษให้หลาบจํา สาสม ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ที่กระทําความผิดคิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทําความผิดอย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสมในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่าชราชนที่กระทําความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป...
|
||
— สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม[1] |
อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทําหินแตก และอย่าแยกแผ่นดิน
|
||
— สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม[2] |
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับศาลอาญา
[แก้ไข]สถิตย์ ไพเราะ
[แก้ไข] รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 สันนิษฐานว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นหลักทั่วไป เมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ คุณก็ต้องให้ประกัน ง่าย ๆ ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร โดยหลักการแล้ว เมื่อถูกฟ้อง ศาลยังไม่พิพากษาว่ากระทำผิด หลักก็ต้องให้ประกันตัว หากไม่ให้ประกันตัว ก็ต้องให้เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ให้ และเหตุผลก็ต้องเป็นเหตุผลที่มีเหตุผล เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล เช่น ผมถูกตั้งให้ปลดสำนวน เวลาปลดสำนวนต้องอ่านสำนวนทุกเรื่อง ผมก็ไปเจอสำนวนหลายเรื่องที่แปลก ๆ คดีแรกจำเลยถูกฟ้องว่าลักช้าง ศาลสั่งว่า 'ลักทรัพย์ใหญ่ใจอาจหาญไม่อนุญาต' เหตุผลนี้ไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ กฎหมายไม่ได้เขียนอย่างนั้น อีกสำนวนจำเลยถูกกล่าวหาว่าลักเข็มด้าย ลักของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน ศาลสั่งว่า 'ลักเล็กขโมยน้อยไม่อนุญาต' กฎหมายไม่ได้เขียนว่า ลักเล็กขโมยน้อยไม่อนุญาต ไม่มีหลักอะไร
ในคดีอากง ศาลสั่งในเรื่องประกันตัวว่า 'ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง' เขียนอย่างนี้ตั้งแต่ในชั้นยังไม่ได้สืบพยานเลย แสดงว่า ศาลเชื่อแล้วว่าที่ฟ้องมาเป็นความจริง การเป็นผู้พิพากษาอ่านฟ้องเชื่อ แล้วเป็นผู้พิพากษาได้อย่างไร ต้องฟังพยานก่อนจึงจะเขียนได้ 'ข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหากระทบความรู้สึกประชาชน' เขาพึ่งบรรยายฟ้องมา ยังไม่สืบพยานเลย บอกว่ากระทบแล้วได้อย่างไร ต้องสืบพยานเสียก่อน ตัดสินโดยยังไม่ได้ฟังพยาน ไม่ใช่วิสัยผู้พิพากษาพึงกระทำเด็ดขาด คำฟ้องจะด่าว่าเลวร้ายอย่างไรก็เป็นคำฟ้องเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าถูกผิดอย่างไร และเดาต่อไปว่า 'หากผลการพิจารณาสืบพยานหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี' ศาลเริ่มเดาว่า ถ้ามั่นคงจำเลยอาจหลบหนี แล้วถ้าเดาผิดใครรับผิดชอบ เอาคุณไปขังแทนไหม ไม่ได้ หลักอย่างนี้ไปเดาเอา รู้อย่างไรจะมั่นคงไม่มั่นคงก็เดาเอา เป็นการเดาที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยเขา ไม่ใช่ลักษณะของศาลซึ่งเป็นคนกลางจะสั่งอย่างนี้ คำสั่งผิดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความ ถ้าถามผมนะครับ และก็เดานี้ผิดด้วย เพราะอะไร คำพิพากษาในคดีเองนี้เขียนว่า 'แม้โจทก์ยังไม่สามารถนำสืบพยานอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความตามฟ้อง' แสดงว่า ศาลยอมรับว่าโจทก์เองไม่สามารถสืบพยานให้ชัดแจ้งได้ เขียนอย่างนี้แสดงว่า ที่สั่งในชั้นประกันตัวผิด แต่ปรากฏว่า ศาลเองก็ทำผิดครั้งที่สอง คือ ไปลงโทษจำเลย ถ้าพยานไม่ชัดแจ้ง คุณไปลงโทษจำเลยได้อย่างไร ขัดกฎหมายวิธีพิจารณา มาตรา 227 เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ชั่งน้ำหนักพยาน อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำ คำว่าแน่ใจก็คือชัดแจ้ง เมื่อคุณบอกว่าไม่ชัดแจ้ง คุณไปลงโทษได้อย่างไร ยิ่งตอนท้ายยิ่งเขียนผิดใหญ่เลย 'แต่เป็นการยากที่โจทก์จะสืบด้วยประจักษ์พยาน' มีกฎหมายใดที่บอกว่า เป็นการยากแล้วจะมั่วลงโทษจำเลยได้ หลักมีอันเดียว คือ พยานโจทก์ต้องแน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อม ไม่ใช่ว่าพยานแวดล้อมแล้วมั่วลงโทษได้นะครับ และคำพิพากษานี้ก็จะอยู่ไปจนตาย เพราะคำพิพากษานี้ไม่ได้แก้ เนื่องจากอากงตายไปแล้ว จะถูกวิจารณ์ชั่วกาลปาวสานเพราะศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่ได้แก้ อย่างนี้ผมเข้าใจว่า ถ้าขึ้นศาลสูง ศาลสูงไม่ปล่อยไว้หรอก เพราะมันผิดกฎหมาย ขัดมาตรา 227 อย่างชนิดที่ว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตกเลย เป็นนักกฎหมายหลักต้องมี ไม่ใช่เขียนส่งเดช หากเป็นผู้พิพากษาอย่าไปทำ ไม่ใช่เรามีอำนาจทำไปเรื่อย คนที่อ่านกฎหมายไม่ใช่มีแค่เรา ท่าน อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านเขียนว่า ศาลทำตามอำเภอใจ ก็ถูกของท่าน
|
||
— สถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส[3] |
พนัส ทัศนียานนท์
[แก้ไข] ...รู้สึกว่า การพิจารณาในความผิดฐานนี้ ในแง่ของความยุติธรรม หลักความยุติธรรม เราได้มีการรักษากันมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะให้ผดุงความยุติธรรมในคดีที่เกิดขึ้นประเภทอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อคดี [พิจารณาเป็นการลับ]...
|
||
— พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[4] |
นิธิ เอียวศรีวงศ์
[แก้ไข] ...ผมมีสองประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกก็คือว่า คุณเอาคนอายุหกสิบเอ็ด เป็นมะเร็งในปาก ไปติดคุกยี่สิบปี ผมว่า ในสังคมไหนในโลกนี้ก็รู้สึกสะเทือนใจทั้งนั้น แล้วก็ทำให้ต้องย้อนกลับมาสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยทั้งหมดเลย รวมทั้งสงสัยในตัวกฎหมายที่ทำให้อากงไปติดคุกด้วย
ประเด็นที่สองที่ผมอยากจะเตือนไว้ก็คือว่า ความยุติธรรมไม่ได้ลอยอยู่บนฟ้า แต่เป็นความเห็นของมนุษย์ในสังคมแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละแห่ง จะมองเห็นว่า อะไรคือความยุติธรรมของเขา การที่คนขยับเยื้อนกันมากมายเหลือในสังคมจากกรณีอากงนี้ ชี้ให้เห็นว่า ทัศนะต่อความยุติธรรมของไทย มาตรฐานที่ครั้งหนึ่งเคยถือว่าเป็นความยุติธรรม สังคมไทยไม่ได้เห็นอย่างนั้นแล้ว จริง ๆ อากงนี้ถ้าอยู่สมัยอยุธยานี่เอามะพร้าวห้าวยัดปากนะ
|
||
— นิธิ เอียวศรีวงศ์[4] |
อานนท์ นำภา
[แก้ไข] ...คดีนี้ ทีมงานไปติดต่อช่างเทคนิคสิบกว่าคน ไม่มีใครกล้ามายืนยันทางคดี เพราะกลัว แต่เขาบอกว่า หมายเลขอีมี่ตัวเลขสุดท้าย คือ ลำดับที่ 15 จะเป็นตัวคุมตัวเลขลำดับที่ 1-14 ฉะนั้น ตัวเลขลำดับที่ 15 มันจะคงที่ ซึ่งสวนทางกับที่ตำรวจบอกว่า ไม่แคร์ตัวเลขลำดับที่ 15
เรื่องอีมี่คดีนี้ จริง ๆ ตำรวจ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครกระทำความผิด แม้แต่ศาลเองก็ยอมรับในคำพิพากษาว่า คดีนี้ไม่มีใครเป็นประจักษ์พยานว่าอากงทำผิด...
|
||
— อานนท์ นำภา ทนายฝ่ายจำเลย[5] |
ฝ่ายอื่น
[แก้ไข]กิตติศักดิ์ ปรกติ
[แก้ไข] ...ที่ถามว่า มีปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมอย่างไร เท่าที่ผมติดตามดูจากข่าว ขณะนี้ผมก็กำลังรออ่านคำพิพากษาอยู่เหมือนกัน ในข่าวเขากล่าวว่า ผู้ที่เป็นจำเลยปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้ทำ แต่จะเป็นผู้ใดทำนั้นตนเองไม่รู้ ศาลก็เรียกพยานมาสืบ สืบก็ได้ความว่า โทรศัพท์มือถือ เลขประจำเครื่องอาจมีการปลอมแปลงกันได้ แต่ว่าศาลก็เชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์คืออัยการว่า คงจะไม่ได้ปลอมแปลง เพราะว่าสัญญาณนั้นส่งจากแหล่งที่อยู่ขอผู้ที่เป็นจำเลย อย่างไรก็ตาม คดีนี้ เนื่องจากจำเลยเขาปฏิเสธหัวแข็งว่า ไม่ใช่เป็นการกระทำของเขา ถ้าจะเป็นก็เป็นการกระทำของคนอื่น จึงต้องมีการพิจารณาพฤติการณ์แวดล้อมว่า เขามีมูลเหตุจูงใจอะไรที่จะทำอย่างนั้น ซึ่งอันนี้ก็ต้องรออ่านในคำพิพากษา...
|
||
— กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[4] |
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า คดีนี้เป็นคดีที่ต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าสองอย่างในสังคม คุณค่าอันที่หนึ่ง ก็คือ การที่เราจะแสดงความคิดเห็น ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรง มันยังอยู่ในขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในแง่นี้ ในสังคมประชาธิปไตยถือกันว่า รากเหง้าสำคัญรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือต้องเปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นได้
ผมว่าคุณภิญโญ [ไตรสุริยธรรมา] ว่า 'คุณเลว' เป็นความคิดเห็น แต่ปัญหาว่า ความคิดนี้ต้องอยู่ในกรอบที่จะต้องไม่เป็นการหมิ่นประมาท ผมบอก 'คุณจัดรายการไม่ดี' เป็นความคิดเห็น ทุกคนต้องแสดงความคิดเห็นได้ แต่ผมจะไปบอกว่า 'คุณภิญโญ คุณนั้นเลวเหมือนหมา คุณภิญโญ คุณเป็นชู้กับคนอื่น' อย่างนี้เกินขอบเขตการแสดงความคิดเห็นที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือว่า บอกไปเป็นชู้กับเขา ทั้งที่ไม่มีเหตุที่ควรจะไปกล่าวหา ก็เป็นเรื่องหมิ่นประมาทไป นี้เป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์ระบบกฎหมายถือว่าเป็นส่วนสาระสำคัญเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงมีรัฐธรรมนูญที่ถือว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร เมื่อเป็นราชอาณาจักร ก็คือว่า พระมหากษัตริย์เป็นสุดยอดเป็นประมุขแห่งรัฐ จึงต้องได้รับการคุ้มครอง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้นทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตว่า จะต้องดูหมิ่นไม่ได้ แสดงความอาฆาตมาดร้ายไม่ได้ จะหมิ่นประมาทไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น คดีนี้เรายังไม่เห็นคำพิพากษา แต่เหตุที่มีผู้คนสงสัย ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะว่า นี้เป็นคนแก่...ปัญหาอยู่แต่เพียงว่า เนื้อหาของการกล่าวกระทบกระเทียบนั้นเป็นอย่างไร และที่คนรู้สึกมากก็คือว่า เป็นการกระทำของอากงคนนี้หรือเปล่า...เพราะข่าวที่ออกมาบอกว่า พิสูจน์ไม่ได้ พยานหลักฐานยังน่าสงสัยอยู่ อันนี้จึงต้องดูในคำพิพากษาว่า อะไรเป็นเหตุในการลงโทษ และชั่งน้ำหนักกันหรือเปล่าระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย กับความมั่นคงของรัฐคือการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าอะไรสำคัญยิ่งหย่อนกว่ากันอย่างใด ภายใต้เงื่อนไขใด อันนี้เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องทำให้ชัดเจน
|
||
— กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[4] |
อ้างอิง
[แก้ไข]- ↑ กระโดดขึ้นไป: 1.0 1.1 1.2 1.3 สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ. (2555.05.09). อากงปลงไม่ตก. [ออนไลน์]. (เข้าถึงเมื่อ: 2556.04.14).
- ↑ สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ. (2555.05.09). อากงปลงไม่ตก (2). [ออนไลน์]. (เข้าถึงเมื่อ: 2556.04.14).
- ↑ ประชาไท. (2555.08.21). สถิตย์ ไพเราะ ความเห็นต่อคดีอากง (ถอดความคำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา). [ออนไลน์]. (เข้าถึงเมื่อ: 2556.02.14).
- ↑ กระโดดขึ้นไป: 4.0 4.1 4.2 4.3 ไทยพีบีเอส. (2554.12.12). ตอบโจทย์ คดีอากงกับ ม.112 ตอนที่ 1 12-12-54. [ออนไลน์]. (เข้าถึงเมื่อ: 2556.02.14).
- ↑ "'อานนท์ นำภา' บอกเล่าคดี 'อากง เอสเอ็มเอส' และข้อหาทนายดราม่า (?). (2554.11.30). ประชาชาติธุรกิจ. [ออนไลน์]. (เข้าถึงเมื่อ: 2556.02.14).