เรื่องสรีรยนต์

จาก วิกิคำคม

สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ที่พระราชวังดุสิต สถานีวิทยุเผยแผ่บทพระธรรมเทศนา เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงผนวช มีเนื้อหา ดังนี้


เรื่องสรีรยนต์

สรีรยนต์
 

“ ได้กล่าวมาแล้วเมื่อพูดถึงสามัญญลักษณะ ๓ ประการ ว่าสิ่งที่เราสมมุติว่าเป็นตัวเรานี้ เพียงแต่ประกอบขึ้นด้วยสิ่งต่าง ๆ หลายอย่าง และเป็นสังขตธรรม คือเป็นธรรมอย่างหนึ่งหรือเป็นสิ่งหนึ่งที่มิใช่ธาตุแท้ แต่เป็นธาตุผสมแยกออกจากกันได้ หรือถ้าจะเปรียบอีกอย่างหนึ่งกก็เหมือนเครื่องยนต์มีส่วนประกอบต่าง ๆ ในพระบาลีจึงเรียกสิ่งที่เราสมมุติว่าเป็นตัวเรานั้นว่า สรีรยนต์ คือเครื่องจักร์กลอันประกอบกันเป็นสรีร คือ ร่างกายหรือตัวเรา บัดนี้จะได้พูดถึงสรีรยนต์ต่อไป


 สรีรยนต์นี้ท่านแสดงไว้ว่า มีธาตุประกอบกันอยู่หกอย่าง คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และอากาศธาตุ คือช่องว่าง ทั้งห้านี้เป็นส่วนหนึ่งรวมกันเข้าเป็นรูปกาย แต่ธาตุทั้งห้าที่กล่าวถึงนี้เป็นอพยากฤต ไม่มีดีไม่มีชั่ว เมื่อประกอบกันเข้าแล้วก็ยังไม่มีปัญหาที่พึงไตร่ตรองแต่ประการใด ก้อนหินหรือท่อนไม้ก็ประกอบด้วยธาตุทั้งห้าดังกล่าวมานี้ ต่อเมื่อมีธาตุที่หก คือวิญญาณธาตุหรือจิตอันเป็นธาตุรู้เข้ามาประกอบร่วมด้วย จึงเกิดปัญหาต่าง ๆ คือปัญหาเรื่องดีชั่ว เรื่องทุกข์สุข และเมื่อมีธาตุรู้เข้ามาร่วมได้แล้ว ส่วนผสมที่เกิดขึ้นนั้นก็ประกอบกรรม คือมีเจตนาอันส่งผลให้เป็นกรรมหรือการกระทำได้ ส่วนผสมธาตุทั้งหกนี้มีอาการแยกออกเป็นห้า ท่านเรียกว่าขันธ์ ๕ ดังต่อไปนี้

 รูป คือ ส่วนผสมที่ประกอบด้วยธาตุรู้ ตาเห็นได้จับต้องได้ มีน้ำหนัก มีขนาด นับจำนวนได้ แต่ลักษณะที่สำคัญนั้นคือ สามัญญลักษณะ 3 ประการ ที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ แปรปรวนไป ตั้งทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตน
เวทนา เมื่อมีรูปอันประกอบด้วยธาตุรู้แล้ว ก็ต้องมีกิริยาที่รู้จัก คือรู้จักทุกข์ รู้จักสุข รู้จักไม่ทุกข์ไม่สุข
สัญญา คือความจำ เมื่อรูปมีเวทนามีทุกข์มีสุขกิริยาที่จดจำก็มีขึ้น คือ จำทุกข์ จำสุข จำสิ่งที่ทำให้ทุกข์ จำสิ่งที่ทำให้สุข ในสองประการนี้คือ จำสิ่งทั้งปวงอันจะนำมาซึ่งความสุขความพอใจ และจำสิ่งทั้งปวงอันจักนำมาซึ่งความทุกข์ความไม่พอใจ เป็นการจำตั้งแต่ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ คือ ความรู้สึกทางกาย ตลอดจนเรื่องราวต่าง ๆ แต่สัญญานั้นในลักษณะอันแท้จริงก็เพื่อจำเหตุแห่งทุกข์เพือ่จะได้หลีกเลี่ยง และจำเหตุแห่งสุขเพื่อจะได้แสวงหาโดยแท้

 สังขาร คืออาการที่ปรุงแต่ง ในที่นี้หมายถึงอาการที่เกี่ยวกับจิตอันอยู่ภายในโดยเฉพาะ คือหมายถึงเรื่องภายนอกกับจิตภายในประกอบกันเข้า บังเกิดเป็นความคิดอย่างหนึ่งเป็นสังขาร เช่นบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของภายนอก มาประกอบจิต บังเกิดเป็นความคิดถึงบ้านอีกหลังหนึ่งในใจ ว่าควรมีรูปร่างลักษณะอย่างไรจึงจะถูกใจ ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นหากเป็นความคิดในทางดี คิดถึงเรื่องดี คิดจะททำดี ก็ปรุงแต่งจิตให้ดี แต่ถ้าคิดในทางชั่ว ถึงเรื่องที่ชั่ว พาให้คิดทำชั่ว ก็ปรุงแต่งจิตให้ชั่ว สังขารคืออาการที่ปรุงแต่งนั้น ได้แก่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วทางใดทางหนึ่ง

 วิญญาณ คือกิริยาที่รู้สึก ตาเห็นรูปเกิดความรู้ทางตา ก็เป็นวิญญาณอย่างหนึ่งเรียกว่า จักขุวิญญาณ หูได้ยินเสียงเกิดความรู้สึกทางหู ก็เกิดวิญญาณอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า โสตวิญญาณ ดังนี้ต่อไปตามลำดับจนครบทางที่จะได้รับความรู้สึกต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้รวมกันเเข้าเรียกว่า ปัญจขันธ์ หรือขันธ์ ๕ แปลว่า กอง ๕ หรือส่วน ๕ ในส่วนที่เป็นรูปตาเห็นได้จับต้องได้นั้น ท่านเรียกว่า รูปกาย หรือรูปธรรมเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนกองหรือส่วนที่อยู่ภายใน ตาเห็นไม่ได้หรือจับต้องไม่ได้ คือ วิญญาณ เวทนา สัญญา และสังขาร นั้นท่านเรียกว่านามธรรม หรือนามกาย เป็นอีกส่วนหนึ่ง

 ขันธ์ ๕ นี้มีสภาพอันไม่เที่ยง ปรวนแปรเสื่อมโทรมอยู่เป็นนิจ จะหาสิ่งใดที่เรียกว่าเป็นของเรานั้นก็ไม่มี เพราะมิสามารถจะหวงกันรักษาไว้ได้แต่สักอย่างเดียว และจะหาสิ่งใดที่เรียกว่าเป็นตัวเรานั้นก็ไม่มีอีก เพราะไม่มีสิ่งใดที่เราบังคับได้ด้วยเจตนาตลอดไป ขันธ์ ๕ เป็นสภาพของชีวิตตามธรรมดา เมื่อเรารู้จักด้วยความจริงยอมรับความจริงเสียแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ขันธ์ 5 ก็ยังทำให้เกิดทุกข์อยู่ได้เสมอ เพราะเรามีอุปาทานคือความยึดเหนี่ยวในขันธ์ต่าง ๆ อยู่ ไม่ยอมรับความจริงว่าขันธ์ทั้งหลายย่อมเสื่อมโทรมไป และมิใช่ของเรา ยกตัวอย่างเช่นรูปขันธ์ ร่างกายอันเป็นรูปลักษณะของคนทุกคนนั้น ย่อมเสื่อมโทรมไปจะรักษาให้คงที่อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเรามีความยึดเหนี่ยวในรูป เราก็เสียดายรูป ไม่อยากให้แก่ไม่อยากให้เสื่อมโทรม ต้องสลายไปจนได้ เราก็เกิดความทุกข์ มีความเสียดาย มีความหวาดหวั่น มีจิตไม่ปรกติขาดความสุข

 หนทางที่จะสิ้นทุกข์ได้ คือ ตัดอุปาทานความยึดเหนี่ยวในขันธ์ ยอมรับสภาพความเป็นจริง แห่งขันธ์ ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งสอนไว้ เมื่อยอมรับความจริงแห่งขันธ์แล้ว จิตก็จะปลอดโปร่งเป็นสุข ทางที่จะสิ้นทุกข์ได้ในเรื่องขันธ์ ก็คือ ความรู้จักความเข้าใจในขันธ์ที่แท้จริงเท่านั้น

”



ที่มา : บันทึกบทธรรมบรรยาย จากภาคผนวก ๖ หนังสือในหลวงกับประชาชน วาระ ๔๕ ปี สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต (รายการวิทยุ แสดงธรรมโดย พระโสภณคณาภรณ์)