จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จาก วิกิคำคม

คำพูด[แก้ไข]

  • สิ่งที่คิดว่าควรได้รับการใส่ใจ หากมีการปฏิรูปใด ๆ เกิดขึ้นคือ โครงสร้างสังคมวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ แม้ว่าประเด็นนี้จะดูขัดกระแสปฎิรูปประเทศไทย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าอาการ “ยกตนเหนือกว่าของคนเมือง” (urban superiority) เป็นส่วนหนึ่งของความอดรนทนไม่ได้กับความต่าง รวมถึงในการกดคนชนบทให้ต่ำกว่าตนใหหลายสถานการณ์ สิ่งเหลานี้เป็นผืนดินที่หล่อเลี้ยงวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย ทั้งยังผลักให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงมาหลายปีแหลมคมขึ้นด้วยการกันคนชนบทออกไปจากกระบวนตัดสินใจทางการเมือง

ในฐานะคนกรุง ข้าเพเจ้าเห็นว่าความมหัศจรรย์ของกรุงเทพฯ คือการเป็นสังคมที่เปิดรับผู้มาเยือนจากต่างถิ่น (นิตสาร Forbes จัดให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้มาท่องเที่ยวมากที่สุดในปี พ.ศ. 2556) ชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่นจีน อินเดีย อาหรับ และญี่ปุ่น รวมถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกรุงเทพฯ และ “คนอื่น” เหล่านี้สะท้อนการแบ่งปันพื้นที่ทั้งทางกายภาพและทางจินตนากรรมกับกลุ่มคนที่ต่างจากตน กระนั้นก็ดี อคติของคนกรุงเกี่ยวกับคนต่างจังหวัดเข้มข้นขึ้นสวนทางกับความเป็น cosmopolitan ในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โดยเฉพาะในการประท้วงครั้งล่าสุด คนกรุงซึ่งเป็นผู้ประท้วงส่วนใหญ่ยังคงมีมโนภาพเกี่ยวกับคนชนบทว่าล้าหลัง ไม่มีการศึกษา ยากจน และถูกนักการเมือง “ซื้อ” ได้ง่าย วิธีคิดเช่นนี้เชื่อมโยงกับอคติต่อนักการเมืองและระบอบประชาธิปไตย ตรรกะง่าย ๆ คือประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับเสียงส่วนมาก แต่เสียงส่วนมากในประเทศไทยคือเสียงจากชนบท ซึ่งยัง “ไม่พร้อม” (เพราะ “โง่” “จน” ฯลฯ) ฉะนั้นประเทศไทยจึงยังไม่ “โต” พอที่จะรับประชาธิปไตยเต็มใบ นี่นำไปสู่การไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่คือคนชนบท ความขัดแย้งที่เราเผชิญมาหลายปี ในทางหนึ่ง สะท้อนความปรารถนาทางการเมืองของคนชนบทที่ดังขึ้น ทว่าเมื่อสียงนี้แทรกเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ คนกรุงยังคงได้ยินเสียงเหล่านั้นว่าเป็นเสียงของผู้ไม่พร้อมจะกำหนดชะตาชีวิตทางการเมืองของตนเอง หากกรุงเทพฯให้พื้นที่กับ “คนอื่น” ในนัยของชุมชนชาติพันธุ์อื่นและนักท่องเที่ยวจากหลากดินแดนได้ การโอ้มอุ้ม “ความเป็นชนบท” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ก็อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินไป? ในระยะยาว สิ่งที่ต้องทำคือ “ให้การศึกษา” คนกรุงเทพฯ เกี่ยวกับชนบทที่เปลี่ยนไป (อาจฟังยอกย้อนแต่ข้าพเจ้าหมายความเช่นนั้นจริงๆ!) ผ่านการปรับเปลี่ยนตำราเรียนหรือกระทั่งโครงเรื่องละครหลังข่าว เป็นต้น ในระยะสั้น คนกรุงอาจจต้องเริ่มคิดเกี่ยวกับพื้นที่กรุงเทพฯ (ในทางกายภาพ) เสียใหม่ ขณะนี้การประท้วงกลายเป็นเครื่องมือสนทนาของกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองอย่างน้อยสองฝักฝ่ายซึ่งต่างอ้างเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมการเมืองไทย ฉะนั้นคนกรุงอาจต้องแบ่งปันกรุงเทพฯ ในฐานะพื้นที่ทางกายภาพกับผู้ซึ่งมาจากที่อื่นหากแต่ต้องการเปล่งความปรารถนาทางการเมืองของตนให้คนส่วนกลางได้สดับฟัง การแบ่งปันนี้ยังรวมถึงความสร้างความเข้าใจว่า “คนชนบท” มีสิทธิ์เสียงเท่าคนกรุง ตลอดจนให้ที่ทางกับวัฒนธรรมการชุมนุมประท้วงของชนบทซึ่งคนกรุงรู้สึกไม่คุ้นเคย ในแง่นี้ ผุ้ชุมนุมจากต่างจังหวัดจึงมิใช่แค่ผู้มาเยือน แต่คือเจ้าของพื้นที่กรุงเทพฯ เหมือนกัน

อ้างอิง[แก้ไข]