ณัฐกร วิทิตานนท์

จาก วิกิคำคม

คำพูด[แก้ไข]

  • การปฏิรูปเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จริงมุมมองที่หลายคนคิดก็คือการป้องกันรัฐประหารนั้น รูปแบบหนึ่งก็คือทำให้ท้องถิ่นใหญ่ขึ้น ทำให้มีอำนาจ เพื่อลดบทบาทการเมืองส่วนกลาง ถ้าประเทศมีการกระจายอำนาจ การรัฐประหารจะทำได้ยาก เพราะเมื่อรัฐประหารแล้ว ที่เคยยึดอำนาจได้เลยทีเดียวนั้นก็จะยากขึ้น คณะรัฐประหารจะใช้บังคับกฎหมายทั่วประเทศไม่ได้ จะไม่ราบคาบเหมือนทุกครั้ง

แต่ก่อนนั้นหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการรณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ ป้องกันรัฐประหาร เพราะเดิมอำนาจส่วนกลางเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลผสมในเวลานั้นนำข้อเสนอทางนโยบายไปปฏิบัติอีกแบบ กลายเป็นกระจายอำนาจระดับให้มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีเนื้อหาส่งเสริมการกระจายอำนาจ ซึ่งผลของรัฐธรรมนูญ 2540 สร้างการเปลี่ยนแปลงได้มาก

ผลของรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ทำให้ในปี 2542 มี "พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" กำหนดให้ภายในปี 2549 ท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนงบประมาณร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับส่วนกลาง และตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาท้องถิ่นได้รับงบประมาณจากส่วนกลางมากขึ้นจนได้สัดส่วนร้อยละ 25 ในปี 2549 และรัฐบาลในเวลานั้นพยายามผลักดันให้มีการถ่ายโอนหน่วยงานสาธารณสุขและการศึกษาให้มาสังกัดท้องถิ่นเพื่อที่จะถ่ายโอนงบประมาณให้ได้ในสัดส่วนร้อยละ 35 ตามที่ พ.ร.บ.กระจายอำนาจกำหนด แต่มีข้าราชการไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการย้ายมาสังกัดท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน และกฎหมายแรกๆ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติผลักดันก็คือแก้ไข พ.ร.บ.กระจายอำนาจ โดยแก้ไขไม่ให้กำหนดเงื่อนเวลาของการถ่ายโอนงบประมาณเอาไว้ ทำให้ทุกวันนี้สัดส่วนงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เพิ่มไม่ถึงร้อยละ 1 เป็นเพียงเลขจุดทศนิยมเท่านั้น ทุกวันนี้สัดส่วนงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับจากส่วนกลางอยู่ที่ร้อยละ 27 คือเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นในรอบ 7 ปี

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารัฐประหาร และการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่ไปด้วยกัน ล่าสุดมีข้อเสนอจาก นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ให้เหลือแต่ส่วนกลางกับท้องถิ่น แต่ข้อเสนอก็มาเป็นพักๆ แล้ววูบไป ข้อสำคัญคือไม่มีพลังผลักดัน เช่นเดียวกับข้อเสนอ พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีการผลักดัน 40 กว่าจังหวัด แต่จะทำให้สำเร็จนั้นยาก เพราะการจะผลักดันให้มีการกระจายอำนาจต้องทำให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการของ กปปส. นั้น เป็นเพราะต้องการเรียกความสนับสนุนเท่านั้น แต่ฐานคิดของ กปปส. ที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งระดับประเทศ ดังนั้นจะไปด้วยกันกับการสนับสนุนให้เลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้อย่างไร

อ้างอิง[แก้ไข]