ประเพณี
หน้าตา
ธ
[แก้ไข]- ไม่ใช่ของโบราณอยู่แล้ว ก่อนอื่นต้องขอย้อนความถึงประเพณี “ลอยกระทง” เป็นประเพณีที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย “รัตนโกสินทร์” ซึ่งอ้างถึง “หลักศิลาจารึก” ทั้งที่ แม้แต่หลักศิลาจารึกเอง ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ขณะที่ประเพณีทางเหนือ ไม่มีประเพณี “ลอยกระทง” ทางเหนือมีแต่ประเพณี “ยี่เป็ง” แปลว่า เพ็ญเดือน12 ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับศาสนาพุทธล้วน ๆ คือฟังเทศน์มหาชาติ ทั้งคืนตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงสิบโมงเช้า พระสงฆ์จะสลับกันขึ้นเทศน์ สำหรับการเทศน์มหาชาติ จะมีกัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า และกัณฑ์สุดท้าย คือ เวสสันดรชาดก เป็นกัณฑ์สุดท้ายซึ่งมีความสำคัญมาก ๆ ประชาชนแต่ละบ้านจึงทำ “ซุ้มประตูป่า” ซุ้มประตูทำด้วยต้นกล้วยกับก้านมะพร้าว เพื่อรำลึกถึงพระเวสสันดรที่ท่านเดินป่า ระยะหลังมีกิจกรรมประกวดซุ้มด้วย นอกจากทำซุ้มแล้ว มีการจุดปรางประทีป ซึ่งเป็นถ้วยไฟเล็ก ๆ ในท้องถิ่นเรียกว่า “ผางผะตี้บ” ตามจุดต่าง ๆ เพื่อแสดงความขอบคุณ เป็นการคารวะด้วยไฟ เป็นการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลบ้าน จึงมักจะวาง “ผางผะตี๊บ” ที่ประตู หน้าต่าง บ่อน้ำ ต้นไม้ ศาลพระภูมิ ซึ่งทางเหนือเรียกว่า “ธรณีเจ้าที่” ในประเพณียี่เป็ง ยังมีการจุดโคม ประกอบด้วย “โคมลอย” จุดตอนกลางวัน และ ปล่อย “โคมไฟ” ตอนกลางคืน เพื่อคารวะต่อพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ การจุดโคมไฟและโคมลอย จะเกิดขึ้นโดยประชาชนรวมตัวกันนำกระดาษสีอะไรก็แล้วแต่ เอาไปรวมกันที่วัด แล้วก็ไปช่วยกันต้มแป้งเปียก เพื่อใช้เหมือนกาวติดกระดาษ ได้โคมกระดาษลูกกลม ๆ โต ๆ สูง 6 ฟุต มีรูข้างล่าง เพื่อใช้จุดไฟอัดควันเข้าไป ระหว่างช่วยกันทำคนในชุมชนก็ได้พูดคุยกันไป เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน และยังประหยัดไม่ต้องซื้อหา ส่วนกาละเทศะในการจุด “โคมลอย” จะจุดตอนเช้าก่อนหรือหลังจากพระฉันเพล ส่วนแต่ละวัดจะทำได้กี่ลูกก็ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาของแต่ละวัด โดยทั่วไปจะจุดโคมลอยประมาณ 6 ลูก และอีก 6 ลูก จะไว้จุดกลางคืน เป็น “โคมไฟ” ลูกที่จุดกลางวันจะมีแต่ควันอย่างเดียว ส่วนลูกที่จุดกลางคืนจะใช้ “ไต้” แขวนด้านล่าง เมื่อลอยขึ้นฟ้าจะมีแสงสว่างด้วย ซึ่ง “โคมไฟ” นี้จะมีการจุดช่วงหัวค่ำ คือจุดก่อนจะมีการเทศน์มหาชาติที่จะเริ่มประมาณหนึ่งทุ่ม จนไปถึงสิบโมงเช้า