ปรีดี พนมยงค์
ไปยังการนำทาง
ไปยังการค้นหา
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 — 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1983) หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน, อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย, ผู้สำเร็จราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, ได้รับพระบรมราชโองการยกย่องให้เป็น "รัฐบุรุษอาวุโส", เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย และได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
คำพูด[แก้ไข]
- เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ก็ไม่มีอำนาจ
- การตั้งสถานศึกษา ตามลักษณะมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัย ในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยาม จะเจริญในอารยธรรมได้ ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอำนวยความประสงค์ และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษา ให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น
- มหาวิทยาลัย ย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น
- ในทางการเมือง การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริง ๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยาอันเป็นมูลฐานเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอโกอิสม์) ความสามัคคีธรรมหรือระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง จึงจะเป็นไปได้[1]
- ก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้ แต่เผอิญเข้าลักษณะของคำพังเพยโบราณว่า เป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ ผมก็ต้องผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อำนวยให้พูดออกบอกได้ ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของผม แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมิได้หยุดชะงักลงภายในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใด คือประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่าน และชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย[1]
- ตั้งแต่บรรพบุรุษสร้างชาติไทยเป็นต้นมา เราถือนโยบายเอกราชทางการคลัง ไม่เคยใช้นโยบาย "ภิกขาจาร" ปีใดเรามีงบประมาณรายได้มาก เราก็ใช้มาก ปีใดเรามีงบประมาณรายได้น้อย เราก็ใช้น้อยตามอัตภาพ ถ้าถึงคราวที่เราจำเป็นต้องลงทุน...เราก็กู้เงินโดยเสียดอกเบี้ยไม่มีอะไรผูกพัน ไม่ใช่เป็นการขอทาน[2]
- การเรียกร้องให้ปวงชนชาวไทยได้คืนสิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเป็นการต่อสู้โดยชอบ ธรรม (Just Struggle) สิทธิประชาธิปไตยเกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ประวัติศาสตร์แห่ง มนุษยชาติซึ่งเป็นประวัติของกฎหมายมหาชน (รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชน) ด้วยนั้น ปรากฎว่าในยุคดึกดำบรรพ์ กระบี่ (Anthropoid Ape) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกกึ่งลิงกึ่งคนได้พัฒนาเป็น มนุษยชาตินั้น มนุษย์รวมกันอยู่เป็นหมู่คนซึ่งมีหัวหน้าปกครองปวงชนอย่างแม่พ่อปกครองลูกจึงไม่มีการ เบียดเบียนลูก ชนในหมู่คนนั้นจึงมีเสรีภาพและความเสมอภาคกัน และมีจิตสำนึกในหน้าที่ว่าจะต้องใช้ สิทธิมิให้เสียหายแก่คนอื่นและแก่หมู่คน ต่อมาสิทธิประชาธิปไตยของมนุษย์ชาติได้ถูกยื้อแย่งไปโดยระบบทาสและระบบศักดินา คือผู้ มีอำนาจระบบทาสและระบบศักดินาคือผู้มีอำนาจในระบบทาสถือเอามนุษย์ที่อยู่ใต้อำนาจของตนให้มี ฐานะเหมือนสัตว์พาหนะของเจ้าทาส แล้วต่อมาผู้มีอำนาจในระบบศักดินาถือว่ามนุษย์มีฐานะเหมือนกึ่ง สัตว์พาหนะเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินา[3]
- ต้องใช้ปัญญาประกอบด้วยสติ เพื่อพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไว้ให้ได้ โดยป้องกันชาวไทยผู้รักชาติแท้จริงมิให้ตกหลุมพรางหรือกลวิธีใด ๆ ของ "กองกำลังแนวที่ 5" แห่ง "พวกกระหายสงคราม"[4]
- ต้องใช้ปัญญาประกอบด้วยสติ พัฒนาระบบปกครองของประเทศไทยให้บรรลุถึงซึ่งระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ และป้องกันชาวไทยผู้รักชาติแท้จริงมิให้หลงเชื่อการโฆษณาที่จะดึงการปกครองประเทศไทยให้ถอยหลังเข้าคลอง[5]
- ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ[6]
- การพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เป็นหน้าที่สูงสุดของคนไทยที่รักชาติ เพราะถ้าไม่สามารถพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไว้ได้ไซร้ ชาติไทยก็จะต้องตกเป็นเมืองขึ้นแบบเก่า หรือเมืองขึ้นแบบใหม่ (Neo-Colony) ของชาติอื่นซึ่งจะเป็นเหตุทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาการเมือง และการพัฒนาคติธรรมทางสังคม ต้องดำเนินไปภายใต้แนวทางและเพื่อประโยชน์ของชาติอื่น ที่เป็นเจ้าเมืองขึ้นแบบเก่าหรือแบบใหม่[7]
- คำว่าประชาธิปไตยนั้น มักจะเข้าใจความหมายกันผิดๆ ประชาธิปไตยแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ[8]
- ผู้อภิวัฒน์การปกครองของประเทศไทย หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นผู้มีคุณูปการแก่ชาติอย่างมากมาย แต่กลับกลายเป็นบุคคล ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ สุดท้ายกลายเป็น คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ[9]
คำกล่าวถึง ปรีดี พนมยงค์[แก้ไข]
พรรคแสงธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[แก้ไข]
พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อ 'ปรีดี'
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ[10]:7
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล[แก้ไข]
- ข้าพเจ้าเคยกล่าวอยู่เสมอว่า ชะตาหรือดวงของคนคนหนึ่งนั้นอาจจะไปสัมพันธ์กับชะตาชีวิตของคน อีกหลายสิบล้านแม้แต่ดวงของประเทศ และถ้าพิจารณากันให้ละเอียดแล้วจะเห็นได้ชัดว่า ดวงของท่านอาจารย์ปรีดีเป็นเช่นนั้น เพราะว่าชะตาหรือดวงของท่านนั้น มิใช่จะทำให้แต่ตัวท่าน ต้องตกระกำลำบาก และเป็นผู้ที่สูญเสียแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังทำให้คนไทยอีกหลายสิบล้านคน ที่ต้องพลอยถูกกระทบกระเทือนและสูญเสียไปด้วย... และต้องเสียไปอย่างที่จะไม่มีทางกลับคืนมาได้อีกแล้ว[11]
เสนีย์ ปราโมช[แก้ไข]
- อาจารย์ปรีดีเป็น...เป็นรัฐบาล รัฐบาลต้องรับผิดชอบอะไรที่เกิดขึ้น ในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์มันก็ต้องพัวพันแน่ จะให้สะอาดหมดจด มันยาก...[12]
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์[แก้ไข]
- ตามที่ผมไปเห็นในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีมาแล้วในคราวนี้ ผมกล้าบอกได้อย่างแน่นอนว่าท่านมิได้เชื่อว่าคุณหลวงฯ (ปรีดี) เป็นผู้ฆ่าในหลวงดังที่เขาลือกันเลย พูดตามจริงแล้วบรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่ผมเคยคุยกับสมเด็จพระราชชนนีไว้ที่กรุงเทพฯ ในเรื่องที่เกี่ยวกับพวก Royalists ว่าวิธีการปฏิบัติของเขามิได้แสดงเลยว่าเขาเป็น Royalist กล่าวคือถ้าเขาเป็น Royalists จริงแล้ว เขาย่อมจะต้องไม่เอาพระนามในหลวงไปใช้เป็นประโยชน์ของเขาในทางการเมือง ดังที่ปรากฏมาแล้วอันล้วนแต่เป็นการเสื่อมเสียต่อในหลวงทั้งสิ้น[13]
ประเวศ วะสี[แก้ไข]
- ถ้าคิดว่าท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จะมองไม่เห็นความดีของอาจารย์ปรีดี ซึ่งมีเป็นอเนกประการ ถ้ารู้ความจริงว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้พยายามพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ จะเห็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์[14]
สุลักษณ์ ศิวรักษ์[แก้ไข]
- หากมาถึงช่วงนี้อคติที่มีเกี่ยวกับนายปรีดีได้ปลาสนาการไปยิ่งขึ้นทุกที เมื่อทิฐิและข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนไปถึงเพียงนี้แล้ว จึงไม่ยากที่เมื่อข้าพเจ้าได้รับหนังสือเรื่อง คำตัดสินใหม่เกี่ยวกับคดีสวรรคต...คำตัดสินใหม่นี้ชี้ทางสว่างให้ข้าพเจ้า[15]:304
- ท่านปกป้องไม่ให้เสียพระเกียรติยศ แล้วความปกป้องของท่านอันนี้ มีคนมาใช้เป็นหนามทิ่มตำอกท่านเอง มันมืดสำหรับคนที่ต้องการให้มืด มันสว่างสำหรับคนที่ต้องการให้มันสว่าง... ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน (2526)[16]
จาตุรนต์ ฉายแสง[แก้ไข]
- หลัก 6 ประการนี้ ถ้ามาดูในปัจจุบัน ก็เหมือนว่าไม่ยากที่ใครจะคิดขึ้น แต่ว่าในขั้นตอนสมัยนั้นของการพัฒนาประเทศ การเสนอหลัก 6 ประการดังกล่าวนี้ขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ความยิ่งใหญ่คงไม่อยู่ที่การนำเสนอหลักการนั้นเท่านั้น แต่อยู่ที่การดำเนินการหลังจากนั้นของท่านปรีดีฯ ที่มีความสอดคล้องต่อเนื่องกับสิ่งที่เสนอไว้ทุกประการ ซึ่งเป็นความยิ่งใหญ่และสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เพราะว่าจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเห็นว่าบรรดาผู้นำและผู้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือผู้มีอำนาจในต่อ ๆ มานั้น ก็แยกไปคนละทาง แต่เส้นทางที่ท่านปรีดีฯ เลือกเดิน เป็นเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แถลงไว้ทุกประการ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์มาตั้งแต่ต้น[17]
พระธรรมโกษาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)[แก้ไข]
- ในความรู้สึกของอาตมา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนา ในการปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้ทันสมัย ท่านพอใจในกิจการของสวนโมกข์ จนถึงกับได้ขอร้องให้อาตมามาแสวงหาที่เพื่อจะจัดสวนโมกข์ขึ้นในจังหวัดอยุธยา...สำหรับอาตมาได้รับคำขอร้องจากท่านผู้นี้ให้ทำทุกอย่างเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทันสมัย อาตมาก็ได้สนองความประสงค์อันนี้ พยายามทำหนังสือหนังหาทุกแง่ทุกมุมที่จะสนองความประสงค์อันนั้นเท่าที่เห็น ๆ กันอยู่แล้วในบัดนี้[18]
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)[แก้ไข]
- ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ได้ดำเนินชีวิตตามหลักของนักปราชญ์ที่มีการศึกษาเล่าเรียนวิชาการมาแต่เยาว์วัย และเร่งศึกษาวิชาการให้เจริญกว้างขวางตามลำดับอายุ เป็นการเพิ่มเติมความเฉลียวฉลาดจนสามารถหยั่งทราบเหตุแห่งความเสื่อมเสีย เหตุแห่งความเจริญวัฒนา และทราบเหตุเพื่อละความเสื่อม[19]
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)[แก้ไข]
- โดยกาลเวลาแห่งยุคสมัย นายปรีดี พนมยงค์ นับว่าห่างไกลจากอาตมภาพ เนื่องจากท่านเป็นคนรุ่นก่อนบิดามารดาเล็กน้อย จะว่าโดยวิถีชีวิต ท่านก็ห่างไกลกับอาตมภาพในแง่ที่ว่า ท่านอยู่ในวงการเมือง แต่อาตมภาพเป็นพระภิกษุอยู่ทางด้านพระศาสนา แต่แม้ห่างไกลอย่างนั้น ก็มีจุดที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับอาตมภาพมาบรรจบกัน จุดนั้นก็คือ “ธรรม”[20]
จริย์วัฒน์ สันตะบุตร[แก้ไข]
- ตอนนั้นท่านผู้หญิง (พูนศุข) บินกลับเมืองไทยเพื่อดูแลลูกชายซึ่งป่วยหนัก ผมกำลังจะส่งวิทยานิพนธ์เลยได้ไปอาศัยอยู่กับท่าน (ปรีดี) ที่ปารีส ช่วงบ่ายวันหนึ่งเราไปเดินเล่นในสวน ท่านเดินอยู่กับผมสองคน แล้วมีเด็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อมีเด็กคนหนึ่งเข้ามาใกล้ ท่านก้มลงเอามือลูบหัว หลังจากเด็กไปแล้ว ท่านแหงนหน้ามองฟ้า และหันมาพูดกับผมว่า 'ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมา' ผมได้ฟังแล้วน้ำตาไหล นึกถึงว่าคนที่อยู่ห่างไกลลูกชายซึ่งป่วยหนัก ไม่รู้จะมีชีวิตรอดถึงวันไหน สิ่งทีท่านนึกถึงกลายเป็นว่า ลูกชายยังไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่า ผมจะได้ยินคำพูดแบบนี้จากคนอื่นในตลอดชั่วชีวิตที่เหลือ ผมประทับใจมาก และรู้สึกว่า นี่คือความผูกพันที่ท่านมีต่อประเทศไทยของเรา[21]
อ้างอิง[แก้ไข]
- ↑ 1.0 1.1 อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 65
- ↑ อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 65 (คำขวัญเนื่องในวันสถาปนากระทรวงการคลังครบรอบ 100 ปี ค.ศ. 1975)
- ↑ ปรีดี พนมยงค์, "ข้อสังเกตบางประการของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 1974," ใน วิจารณ์ร่าง รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ จงเจริญ, 2517), หน้า 2-3.ทัศนะแบบนี้ ปรากฏในบทความอื่น ๆ ของเขาในทศวรรษ 2520 เช่นเดียวกัน อาทิ ปรีดี พนมยงค์,ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ: นิติเวชช์, 1974), หน้า 1-2; ปรีดี พนมยงค์, "บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย," ใน คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่อง ของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่ อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ๒๐ เมษายน ๑๙๗๔ (กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์, 2517),หน้า 100-101
- ↑ อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 63 (คำขวัญสำหรับบัณฑิตธรรมศาสตร์ ค.ศ. 1979)
- ↑ อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 64 (คำขวัญสำหรับบัณฑิตธรรมศาสตร์ ค.ศ. 1980)
- ↑ Paul, Pridi Through A Looking Glass, Asiaweek, 28 December 1979 - 4 January 1980
- ↑ อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 65 (จากบทความภยันตรายแห่งสงครามปรมาณู)
- ↑ อำนาจ ๒ ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ ISBN 978-616-536-079-1 เมษายน ค.ศ. 2012 (พูดถึงระบอบประชาธิปไตย จากบ้านพักในนครกว่างโจว ประเทศจีน)
- ↑ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี ค.ศ. 1983 ชาวธรรมศาสตร์ได้ขึ้นภาพแปรอักษรเพื่อระลึกถึงปรีดีความว่า "พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ"
- ↑ คณะกรรมการโครงการ "ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย". มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์: โครงการ "ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย". เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 2020-06-20.
- ↑ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ๑๐๐ ปีของสามัญชน นาม ปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, ฉบับที่ 182, เมษายน 2543
- ↑ กองบรรณาธิการสยามใหม่, ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน, สำนักพิมพ์อาทิตย์, 2526
- ↑ กองบรรณาธิการมติมหาราษฎร์, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, สำนักพิมพ์สัญญลักษณ์, 2527, หน้า 19
- ↑ ประเวศ วะสี, ปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540
- ↑ เจวจินดา, มรกต. ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475–2526. กรุงเทพฯ: โครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของไทย ที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ : คณะอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการ คณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2543, 2543. ISBN 9745727938. เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 2020-06-20.
- ↑ กองบรรณาธิการสยามใหม่, ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน, สำนักพิมพ์อาทิตย์, 2526
- ↑ จาตุรนต์ ฉายแสง, ถ้อยแถลงในวาระครบรอบ 10 ปี สถาบันปรีดี พนมยงค์, สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548
- ↑ พระศรีปริยัติโมลี, ปรีดี พนมยงค์ กับ พุทธศาสนา, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, 2543
- ↑ กองบรรณาธิการมติมหาราษฎร์, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, สำนักพิมพ์สัญญลักษณ์, 2527, หน้า 7
- ↑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), จุดบรรจบ, บทความจากหนังสือสารคดี, 2543
- ↑ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ร้อยปีของสามัญชนนามปรีดี พนมยงค์, สารคดี, 1999 (ในขณะที่ปาลกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง หมอบอกว่าคงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคนหนึ่งของนายปรีดี ได้บรรยายถึงภาพชีวิตของผู้ที่เป็นอาจารย์ของเขา)
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้ไข]
- สถาบันปรีดี พนมยงค์ เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข รวบรวมประวัติ ภาพ และผลงานของ ปรีดี พนมยงค์ และภรรยา พูนศุข พนมยงค์
- 100 ปีของสามัญชน นาม ปรีดี พนมยงค์ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 182 เดือน เมษายน 2000
- เรื่องปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์
- สัมภาษณ์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เมื่อ ค.ศ. 1982 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ค.ศ. 1932
- สัมภาษณ์พิเศษ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 1980)
- ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข รวบรวมประวัติ ภาพ และผลงานของ ปรีดี พนมยงค์ และภรรยา พูนศุข พนมยงค์