ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล (17 ตุลาคม พ.ศ. 2468 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2560) เป็นชาวไทยซึ่งเป็นปรัชญาเมธี นักเขียน นักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ ราชบัณฑิต และอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีชื่อเสียงจากงานเขียนและงานแปลแนวปรัชญาและวิทยาศาสตร์
|
ร่างกายแข็งแรงเพราะออกกำลังกาย...จิตใจจะแข็งแรงได้ก็ต้องออกกำลังใจ...ออกกำลังใจนั้น คือ ควบคุมตนเองให้รู้จักอดทน ต่อสู้ความลำบากเพื่อเรียนรู้ ไม่ยอมปล่อยใจให้คิดแต่จะหาสิ่งสนุกความสบาย ไม่หลบหลีกการงานที่ต้องใช้ความคิด ถ้าอ่านหนังสือหนังสือตำราเที่ยวหนึ่งยังไม่รู้เรื่อง ก็อ่านอีกซ้ำอยู่จนกว่าจะเข้าใจ ฝึกหัดใช้ความคิดของตนเอง ไม่ใช่เพียงยอมรับเพื่อท่องจำ[1]
|
|
|
|
ในวัยที่มีโอกาสศึกษา ก็ควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อย่าลุ่มหลงเรื่องสุขสนุกสบายที่มีแต่จะทำให้ร่างกายและจิตใจอ่อนแอ ขัดขวางความเจริญงอกงามของสติปัญญา ถ้าเป็นเช่นนี้ ชีวิตในอนาคตจะดีได้อย่างไร คนฉลาดจึงขวนขวายสร้างตนตั้งแต่เยาว์วัย[2]
|
|
|
|
อย่าคิดว่า มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ บันดาลให้เราสำเร็จสมปรารถนา ถ้าเราไม่ทุ่มเทกายใจอดทนทำงานเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยตนเอง ความสูงส่งที่บุคคลตัวอย่างบรรลุถึงนั้นมิใช่ได้มาง่ายโดยการร้องขอ แต่ด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานไม่หยุดหย่อน ด้วยความเพียรแรงกล้า อดหลับอดนอนแม้ขณะเมื่อเพื่อนฝูงหลับสนิท
ชีวิตมนุษย์เราเป็นสิ่งประเสริฐ มีคุณค่าเลอเลิศแฝงเร้นอยู่ ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากระดับต่ำต้อยเพียงใด ก็สามารถไต่ขึ้นสูงเกินกว่าใครจะคาดคิด แม้วันนี้ขณะนี้เราจะยังไม่รู้ชัด แต่เมื่อสติปัญญาของเรางอกงามเติบโตขึ้น สิ่งใดที่ยังไม่รู้ก็จะได้รู้ สิ่งใดที่ยังไม่เห็นก็จะได้เห็น สิ่งใดที่ไม่เข้าใจก็จะได้เข้าใจ หากเริ่มทำงานอย่างจริงจังเสียแต่วันนี้[3]
|
|
|
|
รู้อะไรก็ขอให้รู้จริง เข้าใจจริง และนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่ว่า สักแต่รู้สำหรับจำไว้ตอบข้อสอบ เสร็จแล้วก็ลืมหมด จำอะไรไม่ได้ รู้อย่างนั้นไร้ประโยชน์[4]
|
|
|
|
ความเกียจคร้านทำให้คนอ่อนแอ ความขยันหมั่นเพียรเป็นเครื่องหมายของความเข้มแข็ง[5]
|
|
|
|
ในโลกนี้ ผู้อ่อนแอเป็นผู้ต้องพ่ายแพ้ ผู้เข้มแข็งจะเป็นผู้ชนะ...ถ้าไม่อยากแพ้ ก็ต้องขยันหมั่นทำการงานที่เป็นประโยชน์ ข้อสำคัญ คือ หมั่นฝึกฝนสร้างความสามารถของตน ทั้งในด้านสุขภาพอนามัยทางกาย ด้านความเข้มแข็งของจิตใจ ความคิด สติปัญญา[5]
|
|
|
|
มนุษย์เราก้าวหน้าครอบครองโลกได้ ก็เพราะมีสติปัญญากล้าแข็งกว่าสัตว์อื่น[5]
|
|
|
|
คำว่า 'รัก' นั้นพูดง่าย ใคร ๆ ก็อาจกล่าวได้โดยไม่คิด ดูจะเป็นคำพูดติดปากคนทั้งโลก แต่ปัญหามีว่า ถ้าคนทั้งหลายมีความรักจริง เหตุใดโลกนี้จึงยังมีความทุกข์ร้อนกันอยู่มากมาย...ทั้ง ๆ ที่คำว่ารักเต็มปากคนทั้งโลก[6]
|
|
|
|
การให้และรับด้วยความรักมิใช่การแลกเปลี่ยนซื้อขาย คุณค่าสิ่งของที่ให้–รับมิได้กำหนดด้วยราคาตลาด[7]
|
|
|
|
บ่อยครั้งของขวัญแห่งความรักก็มิใช่ข้าวของที่จับต้องได้ แต่ก็อาจมีคุณค่ายิ่งกว่าสมบัติใดที่จะซื้อหาได้ด้วยเงินตรา[7]
|
|
|
|
แต่ละคนมีปัญญาแตกต่างกัน ถ้าเราคิดแต่เรื่องของตัวเอง มักนึกข้องใจว่า ทำไมเราจึงทุกข์ยาก คนอื่นดูจะสุขสบายกว่าเราทั้งนั้น แต่หากเอาใจใส่เฝ้ามองคนอื่นรอบตัวบ้างก็จะเห็นว่า คนเราทุกคนมีทั้งสุขและทุกข์เหมือนกันทั้งนั้นทั่วโลก[8]
|
|
|
|
ผู้ฝืนใจทำงานด้วยความจำเป็นนั้นเห็นอย่างผิด ๆ ว่า ชีวิตเป็นความทุกข์ และการต้องทำงาน คือ ถูกลงโทษ คนเช่นนี้จะหาความสุขไม่ได้เลย[9]
|
|
|
|
เคล็ดลับของความสุขนั้น คือ การทำงานอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจ มีความสุขทุกขณะที่ทำงานนั้น[10]
|
|
|
|
ชีวิตมีแง่มุมมากมายหลายหลาก เต็มไปด้วยความน่าอัศจรรย์ใจ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้รู้เห็น ชื่นชม และดำเนินบทบาทของตนในโลกนี้ นับเป็นโอกาสอันประเสริฐซึ่งแต่ละบุคคลควรจะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด[11]
|
|
|
|
ชีวิต...เป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีค่าควรรักษาทะนุถนอม[12]
|
|
|
|
ทั้งตัวเราและโลกเปลี่ยนแปรไปเรื่อย ๆ รุ่งเช้า สาย เที่ยง บ่าย ค่ำคืน ผลัดวนเวียน ส่งปีเก่ารับปีใหม่ วันเก่าไปวันใหม่มา ผู้คนก็เปลี่ยนวัย เด็กเล็กโตเป็นหนุ่มสาว ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง ชีวิตมีการเจริญเติบโตไม่หยุดหย่อน เราเองมีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย คือ ทำให้ตนเองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น[13]
|
|
|
|
โลกนี้มีดีจึงดำรงอยู่ ชีวิตมีคุณค่าอันประเสริฐแฝงอยู่ หากเรายังไม่รู้เห็นขณะนี้ก็เพราะยังไม่มีสติปัญญาเพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่ควรปรับปรุงคือตนเอง ต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น เมื่อเข้าใจดีแล้วจะได้รู้จักรักโลกและชีวิต และรู้จักรักผู้อื่นอย่างแท้จริงด้วย[14]
|
|
|
|
การที่สิ่งทั้งหลายต้องเปลี่ยนแปรไป ควรมองเห็นให้ได้ว่า เป็นของดี เพราะถ้าทุกอย่างคงที่...ก็จะไม่มีอะไรเจริญขึ้น การพัฒนาก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไป สิ่งใหม่เกิดแทนสิ่งเก่านั้นดีแล้ว โลกจึงใหม่สดสวยได้ทุกวัน[15]
|
|
|
|
เป็นเด็กเล่นสนุกนั้นไม่มีใครว่ากล่าว ขอแต่อย่าเล่นทำลายของสาธารณะ อย่ารบกวนความสงบสุขของผู้อื่น อย่าก้าวร้าวรุกรานผู้อ่อนแอ[16]
|
|
|
|
การหลงเล่นสนุกจนหลีกหนีงานตามหน้าที่เป็นความอ่อนแอของจิตใจที่ต้องแก้ไข การรู้จักสนุกในการทำงานอันมีประโยชน์เป็นเคล็ดลับของชีวิตที่จะประสบความสำเร็จ[16]
|
|
|
|
เมื่อเรายังเยาว์วัยอยู่นี้ ยังมีเวลามีโอกาสอีกมากที่จะแสวงหาความรู้ความเข้าใจไว้เป็นพื้นฐานสติปัญญาของตน เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตอนาคต เพราะเมื่อถึงวัยที่จะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ เวลาสำหรับการเรียนรู้จะน้อยลง ดังนั้น จึงควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อย่าเอาแต่หาความสนุกจนลืมตน[17]
|
|
|
|
...บัดนี้ ลูกเติบใหญ่โตขึ้น ผละจากอ้อมกอดแม่ออกสู่โลก ขอให้รู้ด้วยว่า ความรักของพ่อแม่นั้นติดตามลูกไปทุกหนทุกแห่งด้วยความห่วงใย ขอให้ลูกเพียงสนองความรักนั้นด้วยการระวังรักษาตัวเองให้รอดพ้นจากอันตรายและจากความชั่วร้ายทั้งหลายเถิด[18]
|
|
|
|
เรามีครูคนแรกที่บ้าน คือ พ่อแม่ และยังจะมีครูอีกมากในชีวิต[19]
|
|
|
|
พ่อแม่เป็นสุขเมื่อลูกอยู่สุข...พ่อแม่เป็นห่วงเมื่อลูกห่างไกล ลูกจึงต้องรู้จักรักษาตน มีสติ ไม่ข้องแวะสิ่งชั่วร้าย ไม่คบคนพาลเหลวไหล[20]
|
|
|
การปฏิบัติต่อผู้อื่น
[แก้ไข]
|
สิ่งใดที่เราไม่ชอบก็อย่าทำกับคนอื่น โลกจะได้เป็นที่น่าอยู่ของทุกคน[8]
|
|
|
|
เมื่อได้เพื่อนที่ดีแล้วก็ให้รู้จักรักษาไว้ มีน้ำใจ รัก และห่วงใยเพื่อน หากเพื่อนประมาทหันเหไปทางผิด ควรพร้อมจะทัดทาน และช่วยกั้นอันตราย และช่วยดูแลรักษาสมบัติของเพื่อนมิให้สูญหาย หากจะเกิดภยันตรายแก่เพื่อน ควรป้องกันเท่าที่จะทำได้ เพื่อนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีทุกข์ อย่าละทิ้งหลบหน้า รีบช่วยเหลือบำบัด วงศ์ญาติของเพื่อนก็รู้จักเคารพนบนอบดุจญาติตน[21]
|
|
|
|
อย่าตีสนิทกับใครเพราะอยากได้อะไรจากเขา อย่าเลือกคบแต่คนที่จะให้ประโยชน์ ความเป็นเพื่อนนั้นอาศัยความจริงใจ มิตรภาพ มีน้ำใจให้กัน ผู้ที่คิดจะเอาเพียงประโยชน์จากกันนั้นไม่ใช่เพื่อน แม้จะเสแสร้งแกล้งทำสนิทสนมเพียงใด[22]
|
|
|
|
อย่าให้แก่เพื่อนโดยเก็งกำไร คือ ให้เขาเพียงน้อยนิด แต่หวังจะให้เขาตอบแทนมาก นั่นคือการค้าขาย ไม่ใช่การคบเพื่อน[22]
|
|
|
|
จงทำตนเป็นผู้ให้โดยไม่ต้องคิดว่าจะได้อะไรตอบแทน[23]
|
|
|
|
เพื่อนที่รักกันจริง เมื่อจะให้สิ่งของแก่กัน ย่อมเลือกของที่มีคุณค่า มอบให้ด้วยใจรัก ปรารถนาให้เขานำไปใช้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่เลือกของเหลือใช้ที่ไร้คุณค่าควรโยนทิ้ง แล้วเอาไปให้โดยหวังของดีตอบแทน น้ำใจอย่างนี้ไม่เป็นเพื่อนดีของใคร และจะหาเพื่อนดีคบไม่ได้ด้วย[24]
|
|
|
|
จะหาเพื่อนที่ดี เราต้องทำตัวเป็นเพื่อนที่ดี[25]
|
|
|
|
ถ้ายังหาเพื่อนที่ดีไม่ได้ อย่ารีบร้อน ทำตนให้เป็นเพื่อนที่ดีของทุกคนที่พบปะ ขณะเดียวกันก็เฝ้าสังเกตให้ถ้วนถี่ ก่อนจะปลงใจปักใจรับใครเป็นเพื่อนสนิท อย่าลืมว่า มิตรนั้นนำไปทั้งทางดีและชั่ว[21]
|
|
|
|
มีเพื่อนเป็นสัตว์กตัญญู ดีกว่ามีไม่รู้คุณแล้วยังอาจเป็นพิษภัยทำลายเราได้[21]
|
|
|
|
คอยมองดูให้ดี ในโลกนี้มีคนหลายชนิด เมื่อจะหาเพื่อนดีก็ต้องเลือกเฟ้น ส่วนตัวเองนั้นก็ต้องปรับปรุงด้วย เพื่อนที่ดีนั้นควรช่วยเหลือกิจธุระของเพื่อน ขวนขวายช่วยทำโดยไม่คิดผลตอบแทน ไม่ใช่พอรู้ว่า เพื่อนทำงานเสร็จแล้ว จึงย้อนมาหาอีก เพื่อนมีงานทำทีไรมีเหตุขัดข้องทุกที เพื่อนเช่นนี้ไม่มีคุณค่า เมื่อรู้ว่า ใครเป็นเช่นนี้ หลีกหนีให้ไกล[24]
|
|
|
|
คนเดี๋ยวนี้คบหากันมักเพียงคิดจะได้ประโยชน์ มุ่งแต่คิดจะเอา ไม่คิดจะให้ เสแสร้งแกล้งทำสนิทสนมเพื่อใช้งาน อย่างที่เรียกว่า สวมหน้ากากเข้าหากัน[21]
|
|
|
|
ผู้คนในโลกนี้ไม่น้อยที่ว้าเหว่ แม้มีโอกาสพบปะใครต่อใครมากมาย แต่รู้สึกในใจว่า ขาดเพื่อน ไม่มีใครที่จะใกล้ชิดสนิทสนมด้วยจริง[26]
|
|
|
|
อย่าเป็นคนดีแต่พูด อย่าคบคนดีแต่พูด คนอย่างนี้ใช้วาจาแทนการกระทำ มีถ้อยคำไพเราะ แต่น้ำใจคับแคบ ยามเมื่อได้ลาภหลบหนีหน้าเพื่อนเพราะกลัวจะต้องแบ่งปัน เมื่อของหมดแล้วย้อนกลับมาหาออกตัวว่า อยากเอื้อเฟื้อแต่เสียใจว่าไม่มีแล้ว คนอย่างนี้คนเขารู้ทันแล้วไม่มีใครคบ เพราะไม่จริงใจต่อใคร ปากปราศรัยยกตัว แต่น้ำใจคับแคบ ไม่รักใครจริง ไม่ช่วยใครจริง[27]
|
|
|
|
คนเราควรรู้จักศักดิ์ศรี มาอยู่ในโลกนี้ควรยืนหยัดเผชิญหน้าสู้ปัญหาสารพัด ไม่ควรลดตัวลงเป็นผู้ร้องขอรับฝ่ายเดียว เพราะผู้ให้นั้นมีไม่น้อยที่แอบดูถูกผู้รับด้วย[28]
|
|
|
|
ผู้ประสงค์จะเติบโตขึ้นเป็นคนเข้มแข็งควรกำหนดอุดมคติพึ่งตนเองให้มาก...สร้างความสามารถของตนจากการเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง เริ่มต้นจากมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเผชิญปัญหาอย่างอดกลั้น ไม่หวาดหวั่นต่อควรลำบาก ยอมทนความทุกข์ยากไม่หลบหนี ไม่ร้องขอความช่วยเหลือโดยไม่จำเป็น เชื่อมั่นตนเองโดยไม่เย่อหยิ่งอวดดี พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น[28]
|
|
|
|
เมื่อเกิดมาเป็นคนก็มีหน้าที่ มิใช่เพียงแต่รับมรดกความสะดวกสบายที่คนรุ่นก่อนสร้างสรรค์ไว้ แต่ต้องรักษาและสร้างต่อเพื่อให้เกิดความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป[29]
|
|
|
|
คนใดไม่สำนึกในหน้าที่ ยินดีที่ได้รับความสุขสะดวกสบายเท่านั้น ไม่ตระหนักว่า เป็นเพราะผลงานของบรรพชน...คนเช่นนั้นนับว่า ยังเขลา ไม่เติบโตเต็มคน เพราะยังไม่เข้าใจว่า มาอยู่ในโลกนี้ เมื่อเป็นผู้รับแล้วก็ต้องเป็นผู้ให้ เมื่อได้รับความสบายจากผลงานของผู้อื่นแล้ว ก็ต้องทำงานเพื่อผู้อื่นด้วย เพราะชีวิตสมบูรณ์ได้ต้องทั้งให้และรับ[29]
|
|
|
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 30.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 31.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 32.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 33.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ระวี ภาวิไล, 2542: 36.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 37–38.
- ↑ 7.0 7.1 ระวี ภาวิไล, 2542: 38.
- ↑ 8.0 8.1 ระวี ภาวิไล, 2542: 14.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 35.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 35–36.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 11.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 13.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 19.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 39.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 40.
- ↑ 16.0 16.1 ระวี ภาวิไล, 2542: 20.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 34.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 16.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 22.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 42.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 ระวี ภาวิไล, 2542: 24.
- ↑ 22.0 22.1 ระวี ภาวิไล, 2542: 25.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 26.
- ↑ 24.0 24.1 ระวี ภาวิไล, 2542: 28.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 23.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 25–26.
- ↑ ระวี ภาวิไล, 2542: 27.
- ↑ 28.0 28.1 ระวี ภาวิไล, 2542: 43.
- ↑ 29.0 29.1 ระวี ภาวิไล, 2542: 50.
- ระวี ภาวิไล. (2542). คุณค่าชีวิต. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: ผีเสื้อ. ISBN 9741401515.