ลลิตา หิงคานนท์
หน้าตา
คำพูด
[แก้ไข]- ดิฉันมองว่ามองว่าสังคมไทยต้องการการปฏิรูปในสองระดับ (layer) ด้วยกัน ระดับแรกคือระดับที่เป็นรูปธรรมหน่อย และระดับต่อมาคือระดับที่เป็นนามธรรมหรือเป็น "อุดมคติ" อาจจะปรับได้เล็กน้อย แต่ต้องใช้เวลามากพอสมควร ในส่วนที่เป็นนามธรรมนั้น ดิฉันเห็นว่าการปฏิรูปต้องไม่ใช่การปฏิรูปเฉพาะสถาบันทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องปรับรื้อและปรับแก้กันทั้งระบบ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันอื่น ๆ ทั้งสถาบันทางการศึกษา สถาบันสงฆ์ และกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ถูกสูบเข้าไปให้เล่นการเมืองหมดแล้ว เห็นได้จากการที่ข้าราชการประจำวิ่งเต้นตำแหน่งกับนักการเมืองได้ในปัจจุบัน ตำแหน่งผู้บริหารตามมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ก็เต็มไปด้วยการวิ่งเต้นและการยึดติดกับ "ความอาวุโส" อย่างเหนียวแน่น สถาบันเหล่านี้จึงไม่ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้าไปบริหารงาน ตำแหน่งผู้บริหารเหล่านี้ควรเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้คนทุกคนในองค์กรนั้นมีสิทธิได้เลือกผู้บริหารของตนเองอย่างโปร่งใส ส่วนในระดับที่สองคือระดับที่เป็นอุดมคติหรือคุณธรรม-จริยธรรมนั้น ดิฉันเป็นว่าปัญหาของสังคมไทยเกิดจากสถาบันครอบครัวเป็นอันดับแรก ไม่ใช่บอกว่าสถาบันครอบครัวไทยไม่ดี ไม่อบอุ่น แต่ปัญหาอยู่ที่สถาบันครอบครัวไทยอบอุ่นจนเกินไป เกิดค่านิยมที่ฝังหัวต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า "เถียงพ่อแม่เป็นบาป" หรือ "เด็กก็ควรอยู่ส่วนเด็ก" ความคิดเหล่านี้ทำให้เด็กไม่ได้ถูกปลูกฝังให้คิดแบบวิพากย์ ทำอะไรเรื่อย ๆ ตามที่พ่อแม่เห็นว่าดี โดยที่เขาอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้ นอกจากนี้สังคมไทยโดยเฉพาะสังคมคนเมือง ยังชอบสปอยล์เด็ก ขออะไรก็ให้ พ่อแม่ซื้อไอโฟนให้ลูกใช้ตั้งแต่อยู่ประถมก็มี สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไทยมีปัญหา "หนักไม่เอาเบาไม่สู้" ประวัติศาสตร์ไทยเองก็ไม่เคยมีประวัติของความสูญเสียหรือการล้างเผ่าพันธุ์อย่างที่เพื่อนบ้านเราประสบ (อย่าอ้างว่าเราเคยเสียกรุงศรีอยุธยามาแล้วถึงสองครั้ง เพราะสงครามคราวเสียกรุงฯ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยมากเมื่อเทียบกับสงครามเวียตนาม สงครามกลางเมืองในลาว หรือในกัมพูชา) เยาวชนหรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองจึงไม่เคยตระหนักว่าความลำบากนั้นเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้มันทำให้คนไทยมีความเป็น "ไทย ๆ" สูง นอกจากจะไม่เขาใจความลำบากแล้ว ยังดูถูกเพื่อนบ้านว่าต่ำต้อยกว่าตนเองมาตลอด ครอบครัวจึงควรส่งเสริมให้เด็ก ๆ แสดงออก ให้เห็นคุณค่าของเงิน ให้เด็ก ๆ หางานพิเศษทำได้ เป็นต้น ดิฉันอาจจะพูดในแนวอุดมคติมากเกินไป แต่ทุกวันนี้นักวิเคราะห์หลายคนก็เห็นตรงกันว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยมันสื่อให้เห็นถึงการแบ่งแยกชนชั้นอย่างมีนัยยะสำคัญในสังคมไทย เพราะพ่อแม่และคนในเมืองยังมีทัศนคติแบบนี้อยู่ ประเทศนี้คงไม่สามารถเข้าสู่ยุคปฏิรูปได้อย่างจริงจัง หากไม่มีกระบวนการ "ละลายพฤติกรรม" ที่ดิฉันกล่าวมาไปบ้าง