สมเด็จพระสังฆราช เจริญ สุวฑฺฒโน

จาก วิกิคำคม

ประกาศพระบรมราชโองการใหญ่

๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒




เรื่อง สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙
 
บัดนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยอายุพรรษากาล รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตยั่งยืนช้านาน ดำรงมั่นในศีลสมาธิปัญญามิได้เสื่อมถอย มีจริยาวัตรสำรวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส เป็นพหุลศรุตบัณฑิตผู้ทรงปรีชาญาณ ลึกซึ้งแจ่มใส รอบรู้ในพระไตรปิฎกธรรมวิสารท สามารถวิจัยวิจารณ์ธรรมนำมาแสดงได้ถูกต้องเที่ยงตรงบริสุทธิ์ บริบูรณ์เกื้อกูลสงเคราะห์พุทธบริษัทโดยเสมอหน้าเป็นเอนกประการ ได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักการแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัท ทั่วสังฆมณฑล ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป สมควรจะได้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

ประกาศพระบรมราชโองการใหญ่สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

หนังสือ[1] บวรธรรมบพิตร หน้า ๑๑๔ วัดบวรนิเวศวิหาร

[1]๑๐๐ คำสอน สมเด็จพระสังฆราช[แก้ไข]


พระธรรมเทศนา

คำสอนที่ ๑คำสอนที่ ๒คำสอนที่ ๓คำสอนที่ ๔คำสอนที่๕คำสอนที่ ๖คำสอนที่ ๗คำสอนที่ ๘คำสอนที่ ๙คำสอนที่ ๑๐คำสอนที่ ๑๑คำสอนที่ ๑๒คำสอนที่ ๑๓คำสอนที่ ๑๔คำสอนที่ ๑๕คำสอนที่ ๑๖คำสอนที่ ๑๗คำสอนที่ ๑๘คำสอนที่ ๑๙คำสอนที่ ๒๐คำสอนที่ ๒๑คำสอนที่ ๒๒คำสอนที่ ๒๓คำสอนที่ ๒๔คำสอนที่ ๒๕คำสอนที่ ๒๖คำสอนที่ ๒๗คำสอนที่ ๒๘คำสอนที่ ๒๙คำสอนที่ ๓๐คำสอนที่ ๓๑คำสอนที่ ๓๒คำสอนที่ ๓๓คำสอนที่ ๓๔คำสอนที่ ๓๕คำสอนที่ ๓๖คำสอนที่ ๓๗คำสอนที่ ๓๘คำสอนที่ ๓๙คำสอนที่ ๔๐คำสอนที่ ๔๑คำสอนที่ ๔๒คำสอนที่ ๔๓คำสอนที่ ๔๔คำสอนที่ ๔๕คำสอนที่ ๔๖คำสอนที่ ๔๗คำสอนที่ ๔๘คำสอนที่ ๔๙คำสอนที่๕๐คำสอนที่ ๕๑คำสอนที่ ๕๒คำสอนที่ ๕๓คำสอนที่ ๕๔คำสอนที่ ๕๕คำสอนที่ ๕๖คำสอนที่ ๕๗คำสอนที่ ๕๘คำสอนที่ ๕๙คำสอนที่ ๖๐คำสอนที่ ๖๑คำสอนที่ ๖๒คำสอนที่ ๖๓คำสอนที่ ๖๔คำสอนที่ ๖๕คำสอนที่ ๖๖คำสอนที่ ๖๗คำสอนที่ ๖๘คำสอนที่ ๖๙คำสอนที่ ๗๐คำสอนที่ ๗๑คำสอนที่ ๗๒คำสอนที่ ๗๓คำสอนที่ ๗๔คำสอนที่ ๗๕คำสอนที่ ๗๖คำสอนที่ ๗๗คำสอนที่ ๗๘คำสอนที่ ๗๙คำสอนที่ ๘๐คำสอนที่ ๘๑คำสอนที่ ๘๒คำสอนที่ ๘๓คำสอนที่ ๘๔คำสอนที่ ๘๕คำสอนที่ ๘๖คำสอนที่ ๘๗คำสอนที่ ๘๘คำสอนที่ ๘๙คำสอนที่ ๙๐คำสอนที่ ๙๑คำสอนที่ ๙๒คำสอนที่ ๙๓คำสอนที่ ๙๔คำสอนที่ ๙๕คำสอนที่ ๙๖คำสอนที่ ๙๗คำสอนที่ ๙๘คำสอนที่ ๙๙คำสอนที่ ๑๐๐

ศาสนธรรม จากหนังสือ “๑๐๐ คำสอน สมเด็จพระสังฆราช”
โดย สมเด็จพระสังฆราชฯ (เจริญ สุวฑฺฒโน)



  คำสอนที่ ๑  

มนุษย์ ที่ แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีจิตใจสูง คือ มีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่าคนเรามีพื้นปัญญาสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานมากมาย สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดี ความชั่ว ความควรทำไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์ที่เรียกว่าวัฒนธรรม อารยธรรม ศาสนา เป็นต้น แสดงว่ามีความดีที่ได้สั่งสมมา โดยเฉพาะปัญญาเป็นรัตนะ ส่องสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้นก็ยังมีความมืดที่มากำบังจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ ความมืดที่สำคัญนั่นก็คือ กิเลสในจิตใจและกรรมเก่าทั้งหลาย


  คำสอนที่ ๒  

คำว่า ชีวิต มิ ได้มีความหมายเพียงแค่ความเป็นอยู่แห่งร่างกาย แต่หมายถึงความสุข ความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม ของบุคคลในทางต่าง ๆ ด้วยบางคนมีปัญหาว่า จะวาดภาพชีวิตของตนอย่างไรในอนาคต หรืออะไรควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต และจะไปถึงจุดหมายนั้นหรือที่นึกที่วาดภาพไว้นั้นด้วยอะไร ปัญหาที่ถามคลุมไปดังนี้ น่าจะตอบให้ตรงจุดเฉพาะบุคคลได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าทางแห่งชีวิตของแต่ละบุคคลตามที่กรรมกำหนดไว้เป็นอย่างไร และถ้าวาดภาพของชีวิตอนาคตไว้เกินวิสัยของตนที่จะพึงถึง แบบที่เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศ ก็จะเกิดความสำเร็จขึ้นมาไม่ได้แน่ หรือแม้วาดภาพชีวิตไว้ในวิสัยที่พึงได้พึงถึง แต่ขาดเหตุที่จะอุปการะให้ไปถึงจุดหมายนั้นก็ยากอีกเหมือนกันที่จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา


  คำสอนที่ ๓  

เรา เกิดมาด้วยตัณหา ความอยากและกรรมเพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เราเกิดมา ใครเล่าเป็นผู้สร้างอำนาจนี้ ตอบได้ว่าคือ ตัวเอง เพราะตนเองเป็นผู้อยากเองและเป็นผู้ทำกรรม ฉะนั้นตนนี้เองแหละเป็นผู้สร้างให้ตนเองเกิดมาอนุมาน ดูตามคำของผู้ตรัสรู้นี้ในกระแสปัจจุบัน สมมติว่าอยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้งและหาเสียง เมื่อชนะคะแนนก็เป็นผู้แทนราษฎร นี่คือความอยากเป็นเหตุให้ทำกรรม คือทำการต่าง ๆ ตั้งแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผล คือ ได้เป็นผู้แทน


  คำสอนที่ ๔  

ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรือของโลกเป็นทุกข์ประจำชีวิตหรือประจำโลกไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใด เมื่อจะสรุปกล่าวให้สั้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสี่นี้ย่อลงเป็นสอง คือความเกิดและความดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สกัดหน้าสกัดหลังของโลก ของชีวิตทุกชีวิตนี่เรียกคติธรรมดา แปลว่า ความเป็นไปตามธรรมดา ความไม่สบายใจทุก ๆ อย่าง พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าเป็นทุกข์ ทุกคนคงเคยประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง เกิดทุกข์โศกต่าง ๆ นี่แหละพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นทุกข์โลกหรือชีวิต ประกอบด้วยทุกข์ดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นความจริงที่โลกหรือทุกชีวิตต้องเผชิญ


  คำสอนที่ ๕  

ชีวิตคนเรา เติบโตขึ้นมาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความเมตตากรุณาจากผู้อื่นมาตั้งแต่เบื้องต้น คือ เมตตา กรุณา จากบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ญาติสนิท มิตรสหาย ถ้าไม่ได้รับความเมตตา ก็อาจจะสิ้นชีวิตไปแล้วเพราะถูกทิ้ง เมื่อเราเติบโตมาจากความเมตตากรุณา ก็ควรมีความเมตตากรุณาต่อชีวิตอื่นต่อไป วิธีปลูกความเมตตากรุณา คือ ต้องตั้งใจปรารถนาให้เขาเป็นสุข ตั้งใจปรารถนาให้เขาปราศจากทุกข์ โดยเริ่มจากเมตตาตัวเองก่อน แล้วคิดไปถึงคนใกล้ชิด คนที่เรารัก จะทำให้เกิดความเมตตาได้ง่าย แล้วค่อย ๆ คิดไปให้ความเมตตาต่อคนที่ห่างออกไปโดยลำดับ


  คำสอนที่ ๖  

ตนรักชีวิตของตน สะดุ้งกลัวความตายฉันใด สัตว์อื่นก็รักชีวิตตนและสะดุ้งกลัวความตายฉันนั้น ฉะนั้น จึงไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นฆ่า อนึ่ง ตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น จึงไม่ควรสร้างความสุขให้ตนเองด้วยการก่อความทุกข์ให้แก่คนอื่น


  คำสอนที่ ๗  

คติธรรมดาที่ไม่มีใครเกิดมาในโลกนี้ จะหนีไปให้พ้นได้ ก็คือ ความแก่ ความตาย แต่คนโดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างว่าไม่แก่ ไม่ตาย น่าที่จะรีบทำความดี แต่ก็ไม่ทำ กลับไปทำความชั่ว ก่อความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน ต่างต้องเผชิญทุกข์เพราะกรรมที่ต่างก่อให้แก่กันอีกด้วย ฉะนั้น ก็น่าจะนึกถึงความแก่ ความตายกันบ้าง เพื่อจะได้ลดความมัวเมา และทำความดี


  คำสอนที่ ๘  

การฆ่าตัวตาย เป็นการแสดงความอับจนพ่ายแพ้หมดหนทางแก้ไข หมดทางออกอย่างอื่น สิ้นหนทางแล้ว เมื่อฆ่าตัวตายก็เป็นการทำลายตัว เมื่อทำลายตัวก็เป็นการทำลายประโยชน์ทุกอย่างที่พึงได้ในชีวิต ในบางกลุ่มบางหมู่เห็นว่าการฆ่าตัวตายในบางกรณีเป็นเกียรติสูง แต่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่าเป็นโมฆกรรม คือกรรมที่เปล่าประโยชน์ เรียกผู้ทำว่า คนเปล่า เท่ากับว่าตายเปล่า ๆ ควรจะอยู่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ ก็หมดโอกาส


  คำสอนที่ ๙  

การแก้ปัญหาของคนเรา ถ้าป้องกันไว้ก่อนแก้ไม่ทันก็แก้เมื่อปัญหายังเล็กน้อยจะง่ายกว่า เหมือนอย่างดับไฟกองเล็กง่ายกว่าดับไฟกองโต ถ้าเป็นผู้ที่สนใจธรรมะบ้างก็จะหาหนทางปฏิบัติได้ถูกต้อง ดังที่พระพุทธเจ้ายกขึ้นแสดงว่า ธรรมะพันเกี่ยวข้องกับตัวเราเอง ทุก ๆ คนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง ถ้าตั้งมั่นในการประพฤติธรรมให้พอเหมาะแก่ภาวะของตนเอง ก็จะทำให้พ้นจากความทุกข์ภัยพิบัติได้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็อาจจะเผลอพลั้งพลาด และถ้าไม่รู้วิธีแก้ปัญหาด้วยธรรมะก็อาจจะทำให้หลุดพ้นจากบ่วงปัญหาได้ยาก ฉะนั้น ถ้าสนใจพระธรรมบ้างก็จะมีเครื่องป้องกันแก้ไขให้พ้นจากความทุกข์ ดังคำกล่าวที่ว่าพระธรรมคุ้มครอง


  คำสอนที่ ๑๐  

มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย คนรับใช้หรือผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน ถ้าทิศทั้งหลายดังกล่าวไม่ดีเสียโดยมาก ก็ยากที่จะให้ใคร ๆ ที่อยู่ระหว่างกลางดีอยู่ฝ่ายเดียว


  คำสอนที่ ๑๑  

เมื่อมองไปเบื้องหน้า ไม่มีบิดา-มารดาเป็นที่ยึดเหนี่ยว มองไปเบื้องขวาก็ไม่พบครู-อาจารย์ที่จะอบรมแนะนำ มองไปเบื้องหลังก็ไม่พบญาติพี่น้องผู้หวังดี มองไปเบื้องซ้ายก็ไม่มีสหายที่เป็นกัลยาณมิตร มองไปเบื้องล่างก็ไม่พบผู้ที่รับใช้ให้ความช่วยเหลือ มองไปเบื้องบนก็ไม่พบสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ทางที่ถูกให้ ตรงกันข้าม มองไปทางทิศไหนก็พบแต่โรงหนัง โรงละคร สถานอบายมุขต่าง ๆ และบุคคลต่าง ๆ ที่ชักนำไปทางเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุชักจูงกันไปในทางเสื่อมเสียต่าง ๆ แต่ถ้าทิศทั้งหลายดีอยู่โดยมากก็ยากจะเสื่อมเสียได้


  คำสอนที่ ๑๒  

การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตควรทำความเข้าใจว่ามี ๒ อย่าง คือเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงดูจิตใจ เพราะความเติบโตของเด็กทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ จะมุ่งเลี้ยงร่างกายทอดทิ้งทางจิตใจ ย่อมเป็นความบกพร่องอย่างสำคัญ ไม่ควรถือตามคำปัดว่าเลี้ยงกันได้แต่กาย ใจเลี้ยงไม่ได้ ใจที่อาจเลี้ยงไม่ได้ คือใจที่แข็งหรือเติบโตเป็นตัวของตัวเองในทางที่ถูกหรือผิดเสียแล้ว แต่จิตใจที่ยังอ่อนยังจะเติบโตต่อไป ถ้าผู้ปกครองบำรุงเลี้ยงให้อาหารใจที่ดีอยู่เสมอแล้ว ภาวะทางจิตใจของเด็กก็จะเติบโตขึ้นในทางที่ดี ทั้งนี้เกี่ยวแก่การอบรมดี ให้เด็กได้เสวนา คือซ่องเสพคบหา คุ้นเคยกับบุคคล และสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่ชอบ ถูกต้อง เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูให้มีร่างกายจิตใจเติบโตขึ้นสมดุลกันก็จะเติบโต ดีขึ้นเรื่อย ๆ


  คำสอนที่ ๑๓  

ในการแก้ปัญหาเยาวชน บุคคลที่เป็นทิศสำคัญ ๆ ทุกฝ่ายของเยาชน แต่ละคนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันตั้งตนของตนเองไว้โดยชอบ ให้เป็นทิศที่ดีตามฐานะที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริง ไม่ใช่แต่เยาวชนเท่านั้น ทุก ๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อทิศต่าง ๆ โดยรอบตนดีอยู่ก็ย่อมจะชักนำกันไปในทางที่ดีได้ แต่มีข้อแตกต่างต่างกันอยู่ว่า สำหรับเด็กหรือเยาวชนนั้น ยังเป็นผู้เยาว์สติปัญญาจำต้องอาศัยทิศรอบตนที่ดี ซึ่งผู้ใหญ่จำต้องทำตนให้เป็นทิศของเด็ก และช่วยสร้างทิศที่ดีให้แก่เด็ก


  คำสอนที่ ๑๔  

คนวัยรุ่นกำลังเจริญด้วยพลัง กำลังทะยานกายทะยานใจ เหมือนน้ำตกแรง เมื่อไม่สมหวัง มักจะทำอะไรแรง จึงมักพลาดได้ง่าย และเมื่อพลาดลงไปในห้วงอะไรที่แรง ๆ แล้ว ก็อันตรายมาก เหมือนอย่างไปเล่นสนุกกันที่น้ำตก อาจเผลอพลาดตกลงไปกับน้ำตกที่โจนลงไปจากหน้าผาสูงชัน


  คำสอนที่ ๑๕  

ไม่ควรเชื่อใจตนเองเกินไป เพราะอาจไม่มีเหตุผล ถ้าใจนั้นถูกบังคับหรือท่วมทับเสียแล้ว ควรหารือกับท่านผู้สามารถให้เหตุผลที่ถูกต้องได้ ทั้งเมื่อสนใจในพระธรรมอยู่ พระธรรมอาจให้เหตุผลแก่ตนได้กระจ่างพร้อมทั้งชี้ทางปฏิบัติได้ถูกต้อง


  คำสอนที่ ๑๖  

ผู้ที่มีความคิดน้อย ย่อมนิยมชมชื่นในปัญญาแห่งมนุษย์ในปัจจุบัน และเหยียดดูถูกบรรพชนของตนเอง แต่ผู้ที่มีวิจารณญาณย่อมพินิจนับถือบูรพชนหรือโบราณชนเป็นอย่างดี โดยฐานะที่เป็นผู้ร่วมก่อกำเนิดศิลปวิทยาและประดิษฐ์วัตถุหรือในศิลปวิทยา นั้น ๆ ได้ มนุษย์อีกคนหนึ่งไม่สามารถคิดเช่นนั้นได้ เมื่อเห็นว่าเหมาะดีแล้วก็นำเอาไปใช้ศึกษาและปฏิบัติตาม กล่าวโดยเฉพาะศิลปวิทยา หมู่หรือคณะ หรือว่าบุคคลที่บรรลุความเจริญจำต้องนับถือความรู้ของกันและกัน จำต้องศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ของกันและกัน เพราะเหตุนี้ ผู้มุ่งความเจริญจึงพากันพยายามศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศตามกำลังความสามารถ เหล่านี้เป็นข้อแสดงถึงความเอาอย่างหรือความตามกันในความรู้ แม้ในทางความประพฤติก็เช่นเดียวกัน


  คำสอนที่ ๑๗  

คนเราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้อง ทำต้องพูดอยู่ทุก ๆ วัน เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีสติ เมื่อทำอะไรพูดอะไรไปแล้วก็ระลึกได้ว่าได้ทำอะไรหรือพูดอะไรผิดหรือถูกเรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อย เป็นต้น จะทำจะพูดอะไรก็มีความระลึกนึกคิดก่อนว่าดีหรือไม่ดี อย่างโบราณสอนให้นับสิบก่อน คือ ให้นึกให้รอบคอบก่อนนั่นเอง ในขณะที่กำลังทำกำลังพูดก็รู้ตัวอยู่เสมอ ไม่หลงลืมตัวไม่เผลอตัว บางคนมีปัญญาความรู้ดีแต่ขาดสติ ทำพูดอะไรผิดพลาดได้ อย่างที่พูดกันฉลาดแต่ไม่เฉลียว จึงสมควรหัดให้มี สติรอบคอบ


  คำสอนที่ ๑๘  

คนที่เมา ประมาทขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ อาจผิดศีลได้ทุกข้อ อาจทำชั่วทำผิดได้ทุกอย่าง และเมื่อประมาทเสียแล้วก็เป็นคนหลงอย่างเต็มที่ ไม่รู้จักเหตุผลความควรไม่ควร ไม่รู้จักดีชั่ว ผิดถูก จะพูดชี้แจงอะไรกับคนเมาหาได้ไม่ คนเมาประมาทจึงเป็นผู้ที่ควรเมตตากรุณาหรือสงสาร เหมือนคนตกน้ำที่ทิ้งตัวเองลงไปช่วยตัวเองก็ไม่ได้ หรือเหมือนดื่มยาพิษฆ่าตัวเอง


  คำสอนที่ ๑๙  

คนที่ถือกำเนิดเป็นคนนั้น ยังไม่จัดเป็นคนโดยสมบูรณ์ เพราะเหตุเพียงเกิดมามีรูปร่างเป็นคน ต่อเมื่อมีการปฏิบัติ ประกอบด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสมกับความเป็นคน จึงเรียกว่าเป็น คนโดยธรรม เมื่อมีธรรมของคนสมบูรณ์ จึงจะเชื่อว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์ แม้คำในหิโตประเทศก็กล่าวว่าการกิน การนอน ความกลัวและการสืบพันธ์ของคนและดิรัจฉานเสมอกัน แต่ธรรมของคนและดิรัจฉานเหล่านั้นแปลกกว่ากัน เว้นจากธรรมเสียคนก็เสมอกับดิรัจฉาน


  คำสอนที่ ๒๐  

คนเราโดยมาก มีภายนอกและภายในไม่ตรงกัน เช่นภายนอกรักษามารยาทอันดีต่อกัน แต่ภายในคิดไม่ดีต่อกัน เช่นคิดทำร้ายประหัตประหารกัน หรือบางทีภายในใจไม่มีวัฒนธรรมเลย ทั้งที่ภายนอกแสดงว่ามีวัฒนธรรมต่อกัน เป็นการตีหน้าซื่อแต่ใจคด เรื่องเช่นนี้มีมานานแล้ว จนมีคำกล่าวมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ว่า สัตว์ดิรัจฉานอ่านง่าย ส่วนมนุษย์อ่านยาก เพราะมีชั้นเชิงมากนักเหมือนอย่างป่ารกชัฏ ไม่รู้ว่าสิงสาราสัตว์ซ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง


  คำสอนที่ ๒๑  

คนที่มุ่งประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น ไม่เกื้อกูลใคร เป็นจำพวกเห็นแก่ตนโดยส่วนเดียว เป็นคนคับแคบ ไม่ประพฤติการเป็นคุณประโยชน์แก่ใคร อาจเจริญด้วยประโยชน์ปัจจุบัน มีทรัพย์เฉพาะตน แต่เป็นคนไม่มีประโยชน์แก่คนอื่นหรือแก่หมู่คณะ เรียกว่าเป็นคนมีความคิดแคบสั้น เพราะหลักของการอยู่ร่วมกัน เมื่อคนอื่นพากันเป็นทุกข์เดือดร้อนจะเป็นสุขอยู่ได้อย่างไร ฉะนั้น คนฉลาดจึงมีความคิดยาวและกว้างออกไป เมื่อตนเองได้ประโยชน์มีความสุข ความเจริญ ก็ทำการที่เป็นประโยชน์แผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่น ตามที่เกี่ยวข้องและตามสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ในภายหน้า


  คำสอนที่ ๒๒  

โดยปกติคนเรา ย่อมมีหมู่คณะและถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน จึงต้องมีการปลูกไมตรี ผูกมิตรไว้ในคนดี ๆ ด้วยกันทั้งหลาย เมื่อมีไมตรี มีมิตรก็เชื่อว่ามีผู้สนับสนุน ทำให้ได้รับความสะดวกในกิจที่พึงทำ ผู้ขาดไมตรี ขาดมิตร ก็เท่ากับขาดผู้สนับสนุน แม้จะมีทรัพย์ มีความรู้ความสามารถ แต่ก็คับแคบเหมือนอย่างมีแต่ตนผู้เดียว ยากที่จะได้รับความสะดวกในกิจการ อย่าว่าแต่บุคคลต่อบุคคลเลย แม้แต่ประเทศต่อประเทศก็จำต้องมีไมตรีต่อกัน


  คำสอนที่ ๒๓  

คนที่ฉลาด ย่อมมีความคิดยาวออกไปถึงกาลข้างหน้า ทำในสิ่งที่ให้ประโยชน์สำหรับเด็ก ๆ โดยปกติ ย่อมมีอนาคตของชีวิตอยู่อีกมาก การศึกษาเล่าเรียนในบัดนี้ก็เพื่อสร้างอนาคตของชีวิตให้มีความสุขความเจริญ ถ้าทุกคนไม่มีอนาคตภายหน้า ก็ไม่จำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียน แต่เพราะทุกคนต่างมีอนาคตจึงต้องพากันศึกษาเล่าเรียนและทำให้กิจการต่าง ๆ เพื่อมีความสุขความเจริญในอนาคต


  คำสอนที่ ๒๔  

คนหนึ่ง ๆ มีหน้าที่หลายอย่าง เมื่อเรารู้จักหน้าที่ของตนดีอยู่และปฏิบัติให้เหมาะแก่หน้าที่ ก็จะรักษาไว้ได้ ทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งศาสนา ทั้งตนเอง ทั้งผู้อื่น สามารถรักษาปกติภาพซึ่งเป็นศีลตามวัตถุประสงค์และรักษาปกติสุขซึ่งเป็น อานิสงส์ของ ศีล โดยสรุป ศีลนี้แหละเป็นมนุษยธรรม เพราะทำให้ผู้มีศีลได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์โดยธรรม คิดดูว่าคนไม่มีหิริโอตัปปะ ไม่รู้จักผิดชอบ ประพฤติต่ำทราม จะควรเรียกว่ามนุษย์ได้อย่างไร


  คำสอนที่ ๒๕  

ไม่ควรมองออกไปแต่ภายนอก แต่ ควรมองเข้ามาดูภายในด้วย คือภายในครอบครัว เพราะเด็กต้องจำเจอยู่ในครอบครัว จึงเสวนากับบุคคลและสิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นส่วนมาก ถ้ามีพี่เลี้ยงก็ควรเลือกพี่เลี้ยงที่ดี โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ของเด็ก เช่น บิดามารดาต้องประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก เด็กย่อมเฝ้าผูกปัญหาสงสัยและคิดแก้ปัญหาในบุคคลและสิ่งรอบ ๆ ตัวอยู่เสมอ และคอยลอกเลียนดำเนินตามสิ่งที่ตนได้เห็นและผู้ใหญ่นั่นเองเป็นตัวอย่าง เมื่อประสงค์จะให้เด็กดีจึงจำต้องทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กด้วย


  คำสอนที่ ๒๖  

คนโดยมากมักเข้าใจผิดในผลของความดี คือมักไปเข้าใจผลพลอยได้ว่าเป็นผลโดยตรง และมักมุ่งผลพลอยได้เป็นสำคัญ เมื่อไม่ได้ผลเป็นวัตถุจากการทำความดีก็จะบ่นว่าทำดีไม่เห็นจะได้อะไร รักษาศีลไม่เห็นร่ำรวยอะไร เป็นเพราะไม่เข้าใจว่า ผลของความดีคืออะไร ผลของความดี คือความหลุดพ้น ผู้ทำความดี ย่อมแสดงถึงว่าเป็นผู้ที่มีจิตหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว มีจิตกว้างขวางออกไปโดยลำดับและเห็นว่าการให้สำคัญกว่าการรับ และย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี มิใช่เพื่อผลตอบแทนใด ๆ เป็นสำคัญ


  คำสอนที่ ๒๗  

ผู้ให้อภัยง่ายก็คือไม่โกรธง่ายนั่นเอง ดังนั้น ผู้ที่ปรารถนาจะฝึกจิตให้ไม่โกรธง่าย จึงควรต้องฝึกตนให้เป็นผู้มีเหตุผล เคารพเหตุผล นั่นคือให้คิดหาเหตุผลเพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ตนอยากจะโกรธ เมื่อเห็นอกเห็นใจด้วยเหตุผลแล้วจะได้ไม่โกรธ จะได้อภัยให้ในความผิดพลาดหรือบกพร่องของเขา กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือให้คิดหาเหตุผลเพื่อให้เกิดเมตตาในผู้ที่ตนอยากจะโกรธนั่นเอง


  คำสอนที่ ๒๘  

อันคนที่ทำงานที่เป็นคุณให้ เกิดประโยชน์ย่อมจะต้องประสบถ้อยคำถากถาง หรือการขัดขวางน้อยหรือมาก ผู้มีใจอ่อนแอก็จะเกิดความย่อท้อ ไม่อยากจะทำดีต่อไป แต่ผู้ที่มีกำลังใจย่อมจะไม่ท้อถอย ยิ่งถูกค่อนแคะก็ยิ่งจะเกิดกำลังใจมากขึ้น คำค่อนแคะกลายเป็นพาหนะที่มีเดชะแห่งการทำความดี แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกคนที่ริษยามุ่งร้ายจ้างคนให้ตามด่าว่าในบางครั้ง


  คำสอนที่ ๒๙  

การที่จะให้ใครช่วยเหลือทำอะไร ต้องเลือกคนที่มีปัญญา ที่รู้จักผิดถูก ควรไม่ควร มิใช่ว่าถ้าเขามุ่งดีปรารถนาดีแล้ว เป็นมอบการงานให้ทำเรื่อยไป เพราะถ้าเป็นคนขาดปัญญา แม้จะทำด้วยความตั้งใจช่วยจริง แต่ก็อาจจะทำการที่เป็นโทษแม้อย่างอุกฤษฏ์ก็ได้


  คำสอนที่ ๓๐  

คนเรานั้นนอกจากจะมีปัญญาแล้วยังต้องมีความคิดอีกด้วย จึงจะเอาตัวรอดได้จากอันตรายต่าง ๆ ในโลก วิสัยของบัณฑิตคือคนที่ฉลาดนั้น ย่อมไม่ยอมแพ้หรืออับจนต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่รัดรึงเข้ามา ย่อมใช้ความคิดคลี่คลายเอาตัวรอดปลอดภัยให้จงได้ และเป็นธรรมดาอยู่ที่คนฉลาดกว่า ย่อมเอาชนะคนที่ฉลาดน้อยกว่าได้


  คำสอนที่ ๓๑  

คนโง่นั้นเมื่อยังยอมอาศัยปัญญาของคนฉลาดอยู่ ก็ยังพอรักษาตนอยู่ได้ แต่เมื่อโง่เกิดอวดฉลาดขึ้นมาเมื่อใด ก็เกิดวิบัติเมื่อนั้น และเมื่อถึงคราวคับขันซึ่งจะต้องแสดงวิชาเอง คนโง่ก็จะต้องแสดงโง่ออกมาจนได้ ฉะนั้น ถึงอย่างไรก็สู้หาวิชาใส่ตนให้เป็นคนฉลาด ขึ้นเองไม่ได้ ทั้งคนดีมีวิชาถึงจะมีรูปร่างไม่ดี ก็จะต้องได้ดีในที่สุด


  คำสอนที่ ๓๒  

คนที่อ่อนแอย่อมแพ้อุปสรรคง่าย ๆ ส่วนคนที่เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไปรักษาการงานหรือสิ่งมุ่งจะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่ง มั่น ถืออุปสรรคเหมือนอย่างสัญญาณไฟแดงที่จะต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวจะต้องพบสัญญาณไฟแดงตามถนนซึ่งจะต้องหยุดรถ ก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้การดำเนินชีวิตก็ฉันนั้น ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรคก็ทำอะไรไม่ได้


  คำสอนที่ ๓๓  

ธรรมดาผู้เป็นปุถุชน ความปรารถนาต้องการย่อมบังเกิดขึ้นได้เสมอ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ เมื่อความปรารถนาต้องการเกิดขึ้นเมื่อใด ให้ทำสติพิจารณาใจตนเองอย่างผู้มีปัญญา อย่าคิดเอาเองว่าใจเป็นอย่างไร จะต้องพบความจริงแน่นอนว่า ใจเป็นทุกข์ ใจเร่าร้อน ด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการที่เกิดขึ้นนั้น ใจจะไม่สงบเย็นด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการที่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด


  คำสอนที่ ๓๔  

วิธีดับความปรารถนาต้องการ ก็คือ หัดเป็นผู้ให้บ่อย ๆ ให้เสมอ ๆ การให้กับการดับความปรารถนาต้องการ จะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ ถ้าการให้นั้นเป็นการให้เพื่อลดกิเลสคือความโลภในใจตน มิได้เป็นการให้เพื่อหวังผลตอบแทนที่ยิ่งกว่า


  คำสอนที่ ๓๕  

มีคนไม่ใช่น้อยที่เรียนรู้มากมาย อะไรดีอะไรชั่ว รู้ทั้งนั้น แต่ไม่ทำดี หรือทำก็ทำสิ่งไม่ดี เรียกว่า ใช้ความรู้นั้นช่วยตนเองไม่ได้ ก็เพราะขาดความเคารพในธรรมที่รู้ คือไม่ปฏิบัติให้สมควรแก่ ความรู้นั่นเอง


  คำสอนที่ ๓๖  

พระพุทธศาสนา สอนให้คนเข้าใจในกรรมนั้นไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรมหรืออยู่ไต้อำนาจกรรม แต่สอนให้ รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน กรรมคือการอะไรทุกอย่างที่คนทำอยู่ทุกวันทุกเวลา ประกอบด้วยเจตนา คือ ความจงใจ


  คำสอนที่ ๓๗  

ทุกคนในโลกต่างต้องถ้อยทีต้องพึ่งอาศัยกันในทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น จึงควรปฏิบัติตนในทางที่จะชื่อว่ารักษาไว้ทั้งตนทั้งผู้อื่น คือด้วยวิธีที่แต่ละคนตั้งใจปฏิบัติกรณียะคือกิจของตน ควรทำหน้าที่เป็นตนให้ดีและด้วยความมีน้ำใจที่อดทนไม่คิดเบียดเบียนใคร มีจิตเมตตา มีเอ็นดูอนุเคราะห์ เมื่อตั้งใจปฏิบัติกรณียะ กอปรด้วยน้ำใจดังกล่าว ก็ชื่อว่ารักษาทั้งตนทั้งผู้อื่นเป็นผู้รักษาไว้ได้ทั้งหมด


  คำสอนที่ ๓๘  

หน้าที่ของคนเรา ที่จะพึงปฏิบัติต่อชีวิตร่างกาย คือบริหารรักษาให้ปราศจากโรค ให้มีสมรรถภาพและรีบประกอบประโยชน์ให้เป็นชีวิตดี ชีวิตที่อุดม ไม่ให้เป็นชีวิตชั่ว ชีวิตเปล่าประโยชน์(โมฆชีวิต)และในขณะเดียวกัน ก็ให้กำหนดรู้คติธรรมดาของชีวิต เพื่อความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสห้ามมิให้ทำลายชีวิตร่างกาย ถ้าจะเกิดความอยาก ความโกรธ ความเกลียด ในอันที่จะทำลายชีวิตร่างกายก็ให้ทำลายความอยาก ความโกรธความเกลียดนั้นเสีย


  คำสอนที่ ๓๙  

คนที่มีบุญนั้นบุญย่อมคอยจ้องที่จะเข้าช่วยอยู่แล้ว เพียงแต่เปิดโอกาสให้เข้าช่วย คือเปิดใจรับนั่นเอง การเปิดใจรับก็คือเปิด อารมณ์ที่หุ้มห่อออกเสียแม้ชั่วขณะหนึ่ง ด้วยสติที่กำหนดทำใจตามวิธีของพระพุทธเจ้า เมื่อบุญได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาถึงใจหรือโผล่ขึ้นมาได้แล้ว จิตใจจะกลับมีความสุขอย่างยิ่ง อารมณ์ทั้งหลายที่เคยเห็นว่าดีหรือร้าย ก็จะกลับเป็นเรื่องธรรมดาโลก


  คำสอนที่ ๔๐  

คนที่ทำดีไม่น้อย เป็นทุกข์เพราะการทำดีของตน ที่ไม่กล้าที่จะทำดีก็มี แต่คนทำดีที่ยังเป็นทุกข์ดังกล่าว ก็เพราะยังทำไม่ถึงความดีแห่งจิตใจของตนเอง จิตใจจึงทำไม่ถึงความดีแห่งจิตใจของตนเองจิตใจจึงยังมีความยินดียินร้ายไป ตามอารมณ์ที่มากระทบจากคนทั้งหลาย หากได้เล็งเห็นว่าเรื่องของคนทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องของโลก ถ้าตนเองมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะเรื่องของคนอื่นการปฏิบัติทำจิตใจของตนให้มั่นคงดังนี้ เป็นการสร้างความดีให้แก่จิตใจ เป็นตัวความดีที่เป็นแก่นแท้ ของความดีทั้งหลาย ซึ่งจะป้องกันความทุกข์กระทบกระเทือนใจได้ทุกอย่าง


  คำสอนที่ ๔๑  

ความดีนั้นเกิดจากกรรม(การงาน)ที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ความว่าคนเป็นคนดีเพราะกรรมเป็นคนถ่อยก็เพราะกรรม ฉะนั้น เมื่อละเลิกกรรมที่ชั่วผิด ทำกรรมที่ดีที่ชอบ ก็ได้เป็นคนดีแล้ว แต่คนที่ทำกรรมชั่วผิด แม้จะได้รับบัญญัติ(แต่งตั้ง)ว่าดีอย่างไร ก็หาชื่อว่าเป็นคนดีไม่ผู้ที่รู้และค้านเป็นคนแรกก็คือตนนั่นเอง เว้น ไว้แต่จะมีตาใจบอดไปเสียแล้ว ด้วยความหลงตนไปอย่างยิ่งนั้นแหละจึงจะไม่รู้


  คำสอนที่ ๔๒  

อันความดีนั้นย่อมเป็นอาภรณ์ เป็นอิสริยยศ(ยศคือความเป็นใหญ่)ของคนดี เพราะคนดีย่อมเห็นความดีนี้แหละเป็นยศอันยิ่งใหญ่ และย่อมพอใจประดับความดีเป็นอาภรณ์ จึงกล่าวได้ว่าความ ดีนั้นเป็นอิสริยาภรณ์ของคนดี


  คำสอนที่ ๔๓  

กรรม แปลว่า กิจที่คนกระทำ คำว่า ทำ หมายถึงทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่ากายกรรม ทั้งด้วยวาจาคือพูด อันเรียกว่าวจีกรรม ทั้งด้วยใจคือคิด อันเรียกว่ามโนกรรม บางทีเมื่อพูดกันว่าทำก็หมายถึง ทำทางกายเท่านั้น ส่วนทางวาจาเรียกว่าพูด ทางใจเรียกว่าคิด แต่เรียกรวมได้ว่าเป็นการกระทำทุกอย่าง เพราะจะพูดก็ต้องทำคือทำการพูด จะคิดก็ต้องทำคือทำการคิด จึงควรเข้าใจว่าคำว่าทำใช้ได้ทุกทาง


  คำสอนที่ ๔๔  

ความเชื่อกรรม ถ้าเชื่อให้ถูกทางก็จะแก้ความเชื่อโชคลางต่าง ๆ ได้เป็นอันมาก และสำหรับคนเรามีปัญญาสร้างกรรมใหม่ ๆ ขึ้นได้ดี ๆ มีพระธรรมของพระพุทธเจ้าปฏิบัติรักษาอยู่ก็เป็นผู้มีสรณะ กำจัดทุกข์ภัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี


  คำสอนที่ ๔๕  

สอนทางพระพุทธศาสนา สอนให้ทุก ๆ คนพิจารณาให้ทราบหลักกรรมเนือง ๆ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาทพยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดี เพราะทุก ๆ คนสามารถละกรรมที่ชั่ว ประกอบแต่กรรมที่ดีได้การที่ยังปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณาให้รู้ตระหนักในหลักกรรม และไม่เชื่อกรรมไม่เชื่อผลของกรรม ไม่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน ต่อเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทและมีศรัทธา ความเชื่อดังกล่าวจึงจะละกรรมชั่ว ทำกรรมดีได้ตามสมควร


  คำสอนที่ ๔๖  

ทุก ๆ คนทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นย่อมให้ผลในปัจจุบันบ้าง ในภายหน้าบ้าง ในเวลาต่อ ๆ ไปบ้างตามแต่กรรมนั้น ๆ จะหนักเบาอย่าง ไร ท่านเปรียบเหมือนอย่างยืนอยู่บนที่สูงและโยนสิ่งต่าง ๆ มีก้อนหิน ก้อนดิน กิ่งไม้ ใบหญ้าลงมา ของที่มีน้ำหนักมากย่อมตกลงสู่ พื้นดินก่อน ส่วนกรรมที่หนักน้อยกว่าหรือเบากว่าจะให้ผลตามหลัง


  คำสอนที่ ๔๗  

คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าจะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา สัจจาธิษฐาน เป็นต้น อันเป็นส่วนจิตและศีลอันหมายถึงตั้งเจตนา เว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำในขอบเขตอันควร


  คำสอนที่ ๔๘  

ผู้ที่ทำกรรมดีอยู่มากเสมอ ๆ จึงไม่ต้องกลัวกรรมชั่วในอดีตหากจะมี กุศลของตนก็จะชูช่วยให้มีความสุขความเจริญสืบต่อไป และถ้าได้แผ่เมตตาจิตอยู่เนือง ๆ ก็จะระงับคู่เวรอดีตได้อีกด้วย ระงับได้ตลอดถึงปัจจุบัน


  คำสอนที่ ๔๙  

ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อกรรมของตนเองจะป้ายไปให้คนอื่นไม่ได้ คนทำดีจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามก็เป็นคนดี เพราะกรรมของตน ใครจะรู้หรือชื่นชมหรือไม่ก็ตาม ตัวผู้ทำรู้สึกตัวเอง ว่าทำดี คนที่ทำไม่ดี เช่น ประพฤติตนเกะกะระรานเป็นคนหัวขโมย ก็เป็นคนชั่วเพราะกรรมของตน ใครจะรู้หรือไม่ก็ตาม ตัวผู้ทำเองก็รู้สึกว่าตัวทำชั่ว อาจจะป้ายความผิดให้ผู้อื่นด้วยการหลอกให้คนอื่น เข้าใจผิด แต่จะหลอกตัวเองไม่ได้ ตัวเองย่อมรู้สึกย่อมรู้สึกสำนึกตัวเองอย่างเต็มที่ ฉะนั้น เมื่อทำดี ทำชั่วแล้ว จึงปัดดีปัดชั่วออกไปให้พ้นตัวเองไม่ได้ เพราะรู้สึกตัวเองอยู่ทางจิตของตน ใครจะแย่งดีไปจะใส่ชั่วให้ก็ไม่ได้นอกจากจะหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิดเท่านั้น


  คำสอนที่ ๕๐  

พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องกรรมไว้ เพื่อให้รู้ว่ากรรมเป็นเหตุวิบาก คือผลตั้งแต่ถือ กำเนิดเกิดมาและติดตามให้ผลต่าง ๆ ต่อชีวิต ทำนองลิขิตนั่นแหละแต่กระบวนของกรรมที่ทำไว้มีสลับซับซ้อนมาก ทั้งเกี่ยวกับเวลาที่กรรมให้ผล และข้อสำคัญที่สุดคือเกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลในปัจจุบัน คือทางพระพุทธศาสนาสอนให้ไม่เป็นทาสของกรรมเก่า เช่น เดียวกับให้ไม่เป็นทาสของตัณหา แต่ให้ละกรรมชั่วกระทำกรรมดี และชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ตามหลักพระโอวาท ๓ หรือกล่าวโดยทั่วไป มีกิจอะไรก็ตามควรทำก็ทำ โดยไม่ต้องนั่งรอนอนรอผลของกรรมเก่าอะไร


  คำสอนที่ ๕๑  

คนส่วนมากยังมีความเชื่อว่ามีผู้ดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้น แต่ทางพระพุทธศาสนาได้ แสดงว่าคนมีกรรมเป็นของตน จะมีสุขหรือทุกข์เพราะกรรม ผู้คนเลยหันมากลัวกรรม กรรมจึงคล้ายเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกเข้าใจในทางร้ายอยู่เสมอ กรรมจึงกลายเป็นอดีตที่น่ากลัว พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม ไม่ได้สอนให้ตกเป็นทาสของกรรมหรืออยู่ใต้อำนาจของกรรมแต่สอนให้รู้จักกรรม ให้มีอำนาจเหนือกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน


  คำสอนที่ ๕๒  

กรรม คือการอะไรทุกอย่างที่คนทำอยู่ทุกวันทุกเวลา ประกอบด้วยเจตนา คือความจงใจ หลักใหญ่ของพระพุทธศาสนามุ่งให้พิจารณาให้รู้จักปัจจุบันกรรมของตนว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร หรือไม่ควร เพื่อที่จะได้เว้นกรรมที่ชั่วที่ไม่ควร เพื่อจะทำกรรมที่ดีที่ควรพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ว่า บุคคลสามารถที่จะละกรรมที่ชั่ว กรรมที่ไม่ดีได้ จึงได้ตรัสไว้ให้ละกรรมที่ชั่ว ทำกรรมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าคนมีอำนาจเหนือกรรมอาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าต้องควบคุมจิต เจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา สัจจาธิษฐาน และศีล


  คำสอนที่ ๕๓  

กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนหรือใจ กล่าวคือร่างกายที่ประกอบด้วยอายตนะทั้งหกนี้ คือตัวกรรมเก่า เป็นกรรมเก่าที่ทุก ๆ คนมองเห็น นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งกรรมใหม่ทั้งปวงอีกด้วย เพราะกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็อาศัยกรรมเก่านี้แหละเป็นเครื่องมือกระทำ


  คำสอนที่ ๕๔  

ตา หู มิใช่จะมีไว้เฉย ๆ ต้องดูต้องฟังแล้วก็ให้เกิดกิเลส เช่น ราคะ(ความยินดี) โทสะ(ความขัดเคือง) โมหะ(ความหลงใหล) ให้เกิดขึ้นขณะที่ร่างกายเจริญวัยหนุ่มสาว ซึ่งกล่าวได้ว่ากรรมเก่ากำลังเติบโตเป็นหนุ่มสาว ก็ยิ่งเป็นสื่อของราคะ โทสะ และเป็นสื่อแห่งกรรมต่าง ๆ ตามอำนาจของจิตใจที่กำลังระเริงหลง จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมปกครอง จะปล่อยเสียหาได้ไม่ ถ้าตนเองควบคุมตนเองได้ก็เป็นวิเศษที่สุด แต่ถ้าควบคุมตนเองไม่ได้ก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา และผู้ใหญ่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีงาม ให้เกิดสำนึกว่าเรานี้เกิดมาเพื่อทำความดี


  คำสอนที่ ๕๕  

เวร คือความเป็นศัตรูกันของบุคคลสองคนหรือสองฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งก่อกรรมเสียหาย ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายนั้นก็ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้นตอบแทน เวรจึงประกอบด้วย บุคคลสองคนหรือสองฝ่าย คือผู้ก่อความเสียหาย ผู้รับความเสียหายบุคคลที่สองหากผูกใจเจ็บแค้น จึงเกิดความเป็นศัตรูกันขึ้น นี่แหละเวร


  คำสอนที่ ๕๖  

เวร เกิดจากความผูกใจเจ็บแค้นของบุคคลที่สอง คือผู้รับความเสียหาย ถ้าบุคคลที่สองไม่ผูกใจเจ็บก็ไม่เกิดเป็นเวร การเกิดเวรเพราะบุคคลที่สองเป็นสำคัญเมื่อใครมาทำความล่วงเกินเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อเรา เราไม่ผูกอาฆาตเขาและเราก็ไม่เกิดเป็นศัตรูกัน คือไม่เกิดเป็นคู่เวรกันนั่นเอง เหมือนอย่างตบมือข้างเดียวไม่เกิดเสียง


  คำสอนที่ ๕๗  

อันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต มีอยู่เป็นอันมากที่บังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่คิดมาก่อน แต่เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดก็เกิดขึ้นจนได้ ถ้าหากใครมองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างของเล่น ๆ ไม่จริงจังก็ไม่เกิดทุกข์เดือดร้อนหรือจะเกิดบ้างก็เกิดอย่างเล่น ๆ ถ้าจะหนีเหตุการณ์เสียบ้าง ก็เหมือนอย่างหนีไปเที่ยวเล่น หรือไปพักผ่อนเสียครั้งคราวหนึ่ง


  คำสอนที่ ๕๘  

พื้นแผ่นดิน แม่น้ำ ภูเขา ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คนเรามีปัญญาถมทำให้เป็นถนน ขุดให้เป็นแม่น้ำลำคลอง ทำสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่ สร้างทำนบกั้นน้ำ ขุดอุโมงค์ทะเลภูเขา เรียกว่าใช้กรรมปัจจุบัน ปรับปรุงธรรมชาติฉันใด ความขรุขระของชีวิตเพราะกรรมเก่าก็ฉันนั้น เหมือนความขรุขระของแผ่นดินตามธรรมชาติ คนเรา สามารถประกอบกรรมปัจจุบันปรับปรุง สกัดกั้นกรรมเก่าเหมือนอย่างสร้างทำนบกั้นน้ำเป็นต้น เพราะคนเรามีปัญญา


  คำสอนที่ ๕๙  

ทุกคนต้องการความสุขความสบายใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกคนก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ เพราะใจยังมีความปรารถนาต้องการหรือความโลภนี้แหละอยู่เป็นอันมาก โดยที่ไม่พยายามทำให้ลดน้อยลง เห็นจะด้วยมิได้คิดให้ประจักษ์ในความจริงว่า ความโลภคือเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ซึ่งนำให้ทุกข์ ให้เดือดร้อน ให้ไม่มีความสุข ความสบายใจกันอยู่อย่างมากทั่วไปในทุกวันนี้ แม้ทำสติพิจารณาให้ดีจะเห็น ได้ไม่ยากนัก


  คำสอนที่ ๖๐  

การเพ่งดูผู้อื่นทำให้ตนเองไม่เป็นสุข แต่การเพ่งดูใจตนเองทำให้เป็นสุขได้ แม้กำลังโกรธมาก หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธมาก ความโกรธก็จะลดลง เมื่อความโกรธน้อย หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธน้อย ความโกรธก็จะหมดไป จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมีอารมณ์ใดก็ตาม โลภหรือโกรธหรือหลงก็ตาม หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะหมดไป ได้ความสุขแทนที่ทำให้มีใจสบาย


  คำสอนที่ ๖๑  

ความดิ้นรนเพื่อให้ได้สมดังความปรารถนาต้องการ มิใช่ความสุข มิใช่ความสงบ แต่เป็นความทุกข์ เป็นความร้อน เป็นความวุ่นวาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ทั้งชีวิตไม่ได้พบความสุขความสงบเลย เพราะ มัวปล่อยใจให้เป็นทาสของความโลภ ไม่รู้จักทำสติพิจารณาให้เห็นโทษของความโลภ แล้วพยายามละเสีย ดับเสีย


  คำสอนที่ ๖๒  

ทุกข์ แปลว่า สิ่งที่ดำรงคงอยู่ได้ยาก แต่มีความหมายเป็นปฏิเสธว่า ดำรงทนอยู่ไม่ได้ทีเดียว คือ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เพราะทุกอย่างในโลกต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกาล สิ่งที่เคยมี เคยเป็น ต้องแปรเปลี่ยนไป เมื่อจิตใจรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงที่มีถึง จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ ไม่สบายใจ ก็เลยกลายเป็นความทุกข์ ตามความหมายสามัญ คำว่าทุกข์ตามความหมายสามัญ หมายถึงความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ตรงข้ามกับความสุข ฉะนั้น เมื่อพูดถึงความทุกข์จึงมักเข้าใจกันตามหลักสามัญดังกล่าว


  คำสอนที่ ๖๓  

ในภาษาไทย เมื่อพูดว่าทุกข์ก็หมายกันว่าคือความไม่สบายใจ แต่ในทางพุทธศาสนา ยังหมายถึง ความคงทน ที่อยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในโลกนี้มีอะไรเล่าที่ตั้งคงที่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดวงอาทิตย์ และดวงดาวทั้งหลายตลอดจนโลก ก็ไม่หยุดคงที่ ปี เดือน วัน คืน ก็ไม่หยุดคงที่ ชีวิตก็ไม่หยุดคงที่ทุก ๆ คนเกิดมาแล้วก็เติบโตขึ้นเรื่อย เป็นเด็กเล็ก เด็กใหญ่ เป็นหนุ่ม เป็นสาว โดยลำดับ และก็ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ยังเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต


  คำสอนที่ ๖๔  

เรื่องที่เป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจทั้งหมด จับเข้าหลัก ๑ คือทุกข์ เรื่องที่เป็นความไม่ดีทั้งหมดจับเข้าหลัก ๒ คือสมุทัย เรื่องที่เป็นความสุขสงบเย็นทั้งหมด จับเข้าหลักที่ ๓ คือนิโรธ เรื่องที่เป็นความดีทั้งหมดจับเข้าหลัก ๔ คือมรรค เมื่อคิดตั้งหลักใหญ่ไว้ดังนี้ จะทำอะไรก็คิดตรวจดูให้ดีว่านี่เป็นสมุทัยก่อทุกข์ หรือเป็นมรรคทางสุขสงบ หัดคิดหัดหาเหตุผลดังนี้อยู่เสมอ เป็นการหัดให้เกิดความเห็นชอบเมื่อเห็นชอบก็เชื่อว่าพบทางที่ถูก เข้าทางที่ถูก ซึ่งใช้ได้กับทุกเรื่อง


  คำสอนที่ ๖๕  

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้เกิดสติขึ้นว่าความทุกข์นี้มีเพราะความรัก มีรักมากก็เป็นทุกข์มาก มีรักน้อยก็เป็นทุกข์น้อย จนถึงไม่มีรักเลยจึงไม่ต้องเป็นทุกข์เลย แต่ตามวิสัยโลกจะต้องมีความรัก มีบุคคลและสิ่งที่รัก ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีสติควบคุมใจมิให้ความรักมีอำนาจเหนือสติ แต่ให้สติ มีอำนาจควบคุมความรัก ให้ดำเนินในทางที่ถูกและให้มีความรู้เท่าทันว่าจะต้องพลัดพรากรักสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน เมื่อถึงคราวเช่นนั้นจักได้ระงับใจลงได้


  คำสอนที่ ๖๖  

อันความรักหรือที่รัก เมื่อผู้ใดมีร้อยหนึ่ง ผู้นั้นก็มีทุกข์ร้อยหนึ่ง รักเก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ หกสิบ ห้าสิบ เป็นต้น จำนวนทุกข์ก็มีเท่านั้น ถึงแม้มีรักเพียงอย่างหนึ่ง ก็มีทุกข์อย่างหนึ่ง ต่อเมื่อไม่มีรักจึงจะไม่มีทุกข์ ผู้หมดรักหมดทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “เป็นผู้ไม่มีโศก ไม่มีธุลีใจ ไม่มีคับแค้น”


  คำสอนที่ ๖๗  

ทางออกจากทุกข์นั้นคือ ต้องรับรู้ความจริงต้องป้องกันมิให้ถลำลึกลงไปในทางแห่งทุกข์ คือควบคุม ตัณหามิยอมให้ฉุดชักใจไปได้ และถ้าถลำใจลงไปแล้วต้องพยายามถอนใจขึ้นให้จงได้ด้วยปัญญา เพราะเมื่อทุกข์เกิดขึ้นที่จิตใจ ก็ต้องดับจากจิตใจ และจิตใจของทุกคนอาจสมมติกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติกายสิทธิ์ ไม่มีอะไรจะมา ทำลายได้ นอกจากจะยอมจนใจของตัวเองเท่านั้น ถ้าทำใจให้เข้มแข็งก็จะเกิดพลังใจขึ้นจนสามารถต่อสู้ต่าง ๆ ขจัดขับไล่ตัณหาออก ไปเสียก่อน ความทุกข์ต่าง ๆ ก็จะออกไป พร้อมกัน


  คำสอนที่ ๖๘  

ชีวิตในชาติหนึ่ง ๆ กับทั้งสุขทุกข์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะกรรมที่แต่ละตัวตนทำไว้ ฉะนั้น ตนเองจึงเป็น ผู้สร้างชาติคือความเกิดและความสุขทุกข์ของตนแก่ตนหรือผู้สร้างก็คือตนเอง แต่มิได้ไปสร้างใครอื่น เพราะใครอื่นนั้น ๆ ต่างก็เป็นผู้สร้างตนเองด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่มีใครเป็นผู้สร้างให้ใคร และเมื่อผู้สร้างคือตนสร้างให้เกิดก็เป็นผู้สร้าง ให้ตายด้วย ทำไมผู้สร้างคือตนเองจึงสร้างชีวิตที่เป็นทุกข์เช่นนี้เล่า ปัญหา นี้ตอบว่า สร้างขึ้นเพราะความโง่ ไม่ฉลาด คือไม่รู้ว่าการสร้างนี้ก็คือสร้างทุกข์ขึ้น ถ้าเป็นผู้รู้ฉลาด เต็มที่ก็จะไม่สร้างสิ่งที่เกิดมาต้องตาย


  คำสอนที่ ๖๙  

การที่จะดูว่าอะไรดีหรือไม่ดี ต้องดูให้ยืดยาวออกไปถึงปลายทาง มิใช่ดูเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ และไม่มัวพะวงติดอยู่กับสุข ทุกข์ หรือความสนุกไม่สนุกในระยะสั้น ๆ เพราะจะทำให้ก้าวหน้าไปถึงเบื้องปลายไม่สำเร็จคนเราซึ่งเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องหล่นเรี่ยเสียหายอยู่ในระหว่างทางเป็นอันมาก เพราะเหตุต่าง ๆ ดังเช่นที่เรียกว่า ชิงสุกก่อนห่ามบ้าง ถืออิสระเสรีบ้าง ฉะนั้นการหัดเป็นคนดีมีเหตุผล ที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุก ๆ คน และจะเป็นคนมีเหตุผลก็เพราะส้มมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้อง


  คำสอนที่ ๗๐  

บุญ แปลตามศัพท์ว่า ชำระ ฟอกล้าง ท่านแสดงว่าแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ บุญที่เป็นส่วนของเหตุได้แก่ความดีต่าง ๆ เรียกว่าเป็นบุญ เพราะเป็นเครื่องชำระฟอกล้างความชั่ว บุญส่วนที่เป็นผลคือความสุข บุญที่เป็นส่วนเหตุ คือ ความดีเกิดจากการกระทำถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่ทำก็ไม่เกิดเป็นบุญขึ้น การทำบุญนี้เรียกว่าบุญกิริยา จำต้องมีวัตถุ คือ สิ่งเป็นที่ตั้ง และสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ทางพุทธศาสนาแสดง โดยย่อ ๓ อย่างคือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา บุญคือความดีทั้ง ๓ ข้อ อันจะเป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว ตลอดถึงรากเหง้าของความชั่ว


  คำสอนที่ ๗๑  

กุศล แปลว่า กิจของคนฉลาด หมายถึงความดีเช่นเดียวกับบุญ อกุศล แปลว่า กิจของคนไม่ฉลาด หมายถึงความชั่ว เช่นเดียวกับ บาป สรุปความว่าผลของบุญคือความดีนั้นคือความสุขที่เกิดจากความบริสุทธิ์ใจเพราะ การทำบุญคือความดีโดยตรง มุ่งชำระฟอกล้าง จิตใจให้บริสุทธิ์ สะอาดจากโลภะ โทสะโมหะ ซึ่งเป็นอกุศล เรียกว่า ทำบุญเพื่อบุญหรือทำความดีเพื่อความดีแต่ละคนลองหัดทำบุญ เพื่อบุญจะได้ความสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นความสุขอย่างบริสุทธิ์ในปัจจุบันที่ทำ


  คำสอนที่ ๗๒  

ความดีมีอยู่ที่ตัวเราเอง ซึ่งเป็นคนดีขึ้นเพราะทำดี เมื่ออยากดูหน้าตาของความดี ก็จงส่องกระจกดูหน้าตัวเราเอง จะรู้สึกภูมิใจ ซึ่งแฝงอยู่ในใบหน้า ในสายตาอันส่อเข้าไปถึงจิตใจที่ดี อาจมีความอิ่มใจในความดีของตนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าตัวของเราเองทุกคน ทำไม่ดีต่าง ๆ ก่อให้เกิดทุกข์ร้อนเสียหายแก่ใคร ๆ ก็จะเป็นที่ติฉินนินทา เพราะการทำนั้นก่อให้เกิดโทษ นี่คือความชั่วที่มีอยู่ที่ตัวเราเอง ซึ่งเป็นคนชั่วเพราะทำชั่ว เมื่ออยากดูหน้าตาของความชั่ว ก็จงส่องกระจกดูหน้าของตัวเราเอง จะรู้สึกถึงความอัปยศอดสู ความปิดบัง ซ่อนเร้นแฝงอยู่ในใบหน้า ในสายตา อันส่อเข้าไปถึงจิตใจที่ไม่ดี อาจมีความเศร้าสร้อยตำหนิตนเอง รังเกียจตนเอง


  คำสอนที่ ๗๓  

เมื่อทำดีก็ได้ผลดีทันที เมื่อทำชั่วก็ได้ผลชั่วขึ้นทันที อันผลดีผลชั่วที่ได้ทันทีนี้ก็คือความเป็นคนดีความเป็นคนชั่ว เมื่อทำดีก็เป็นคนดีขึ้นทันที เมื่อทำชั่วก็เป็นคนชั่วทันที ตนเองจะรู้หรือไม่รู้ ผู้อื่นจะรู้หรือไม่รู้ ก็ไม่เป็นเหตุเปลี่ยนแปลงสัจจะคือความจริงดังกล่าวนี้ ได้แต่ว่าผลคือความเป็นคนดีความเป็นคนชั่วดังกล่าวนี้เป็นของละเอียด ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณาแม้ตนเองก็ไม่รู้


  คำสอนที่ ๗๔  

การให้ทาน มีความหมายอย่างกว้างว่าการสละบริจาคสิ่งของอะไรแก่ใคร ๆ หรือแก่องค์การ อะไร ๆ ด้วยการให้เปล่า มิใช่เป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือให้เช่า และมีความหมายตลอดถึงการให้ กำลังกาย กำลังวาจา กำลังความคิด ความรู้ ช่วยในทางต่าง ๆ สรุปแล้วมี 2 อย่าง คือ อามิสทาน ให้พัสดุสิ่งของอันเป็นกำลังทรัพย์ภายนอกต่าง ๆ ธรรมทาน ให้ธรรมอย่างบอกศิลปวิทยาให้ บอกทางของความดีความชั่ว


  คำสอนที่ ๗๕  

ทาน คือการให้ การสละกำจัดความโลภ ทานที่นับว่าจะอำนวยผลอันไพบูลย์ต้องประกอบ ด้วยเจตนาสมบัติ ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือเจตนาดี แต่ก่อนให้ กำลังให้ และให้แล้ว ศีลได้แก่ เจตนางดเว้นความชั่วตามองค์สิขาบทที่ท่านบัญญัติไว้ ผู้มีศีลย่อมปรากฏเป็นผู้มีการงาน วาจา และ อาชีพอันชอบ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์ ย่อมได้รับความปลอดภัยเป็นผล ผู้มีศีลย่อมได้รับผลคือความงามด้วยประการทั้ง ปวง ภาวนาได้แก่การปฏิบัติอบรมให้สมาธิและปัญญาเกิดขึ้น การปฏิบัติอบรมให้เกิดสมาธิเรียกว่า สมถภาวนา ได้แก่การปฏิบัติหัดจิตให้แน่แน่ว ด้วยการบังคับจิตให้คิดเป็นอารมณ์เดียว บุญให้ความสุขแช่มชื่นตราบเท่าถึงสิ้นชีวิต


  คำสอนที่ ๗๖  

ศีล เป็นตัวปกติภาพของคนโดยแท้แต่คนโดยมาก มักควบคุมตัวเองไว้ไม่ได้ จึงรักษาปกติภาพของตนไว้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลเป็นขอบเขตของความประพฤติไว้ เพื่อช่วยให้คนรักษาปกติภาพของตนไว้นั่นเอง ส่วนที่ต้องรับจากพระนั้นก็เป็นเพียงวิธีชักนำอย่างหนึ่ง เพราะโดยตรง ศีลนั้นต้องรับจากใจของตนเอง คือใจของตนเองต้องเกิดวิรัติทั้ง ๓ ข้อ เมื่อใจมีวิรัติขึ้น แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็เกิดเป็นศีลขึ้นทันที วิรัติ ๓ นั้นคือ ความเว้นได้ในท้นทีที่เผชิญหน้ากับวัตถุ ๑ ความเว้นได้ด้วยตั้งใจถือศีลไว้ ๑ และความเว้นได้เด็ดขาดทีเดียว ๑


  คำสอนที่ ๗๗  

เมื่อจักถือศีลก็ไม่ต้องไปที่ไหนอื่น ถือที่กายวาจาจิตนี้แหละ วัดก็ดี ป่าก็ดี เป็นอุปกรณ์ที่ให้ความ สะดวกแก่การถือเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อหวังจะถือให้สะดวก จึงสมควรไปวัด เข้าป่า หรือสถานที่อันสมควรอื่น ๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงศีลเป็นคำสอน ศีลคือปกติ กาย วาจา และจิต ถ้าปล่อยกาย วาจา จิตให้ผิดปกติแม้จะรับสิกขาบท ๕ ข้อก็ตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตามสิกขาบทก็ถือศีลไม่ได้ เพราะสิกขาบท หยาบกว่าศีล เมื่อทำดีอย่างหยาบ ๆ ยังไม่ได้ แล้วจะทำดีอย่างละเอียดได้อย่างไร การรับศีลนั้นแม้จะเป็นการรับจากพระภิกษุ แต่ถ้าเป็นการรับเพียงด้วยปาก ใจไม่ได้คิดงดเว้นอะไรก็ไม่เกิดเป็นศีลได้ ตรงกันข้าม ถึงแม้มิได้รับศีลจากพระภิกษุแต่มีใจงดเว้นก็เกิดเป็นศีลได้


  คำสอนที่ ๗๘  

ศีลธรรมสามารถระงับภัยต่าง ๆ ได้แน่โดยเฉพาะภัยที่คนก่อให้เกิดแก่กันเอง ภัยที่คนก่อขึ้นนี้อาจทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวนไปได้ด้วย เช่นเมื่อตัดไม้ทำลายป่าเสียหายกันโดยมาก ไม่ปลูกขึ้นทดแทนให้พอกันก็ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เป็นต้น ฉะนั้นคนเรานี้เองเมื่อไม่มีศีลธรรมก็เป็นผู้ก่อภัยให้เกิดแก่กัน ตลอดถึงเป็นผู้ก่อความวิปริตแปรปรวนแห่งธรรมชาติได้ด้วยต่อเมื่อพากันตั้งใจอยู่ในศีลธรรม ความปกติสุขย่อมเกิดขึ้นตลอดถึงธรรมชาติดินฟ้าอากาศ ย่อมเป็นไปโดยปกติทั้งคนอาจปรับปรุงธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ด้วย


  คำสอนที่ ๗๙  

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทุกคนมีศีลและมีจิตใจงาม เพราะจะมีความสุขและอยู่ด้วยกันเป็นสุขจริง ๆ ทุก ๆ คนต้องการสุขด้วยกันทั้งนั้นไม่มีใครปฏิเสธ แต่ทำไมไม่เดินในทางของความสุข ไปเดินในทางของความทุกข์แล้วก็ร่ำร้องว่าไม่มีความสุข


  คำสอนที่ ๘๐  

ข้อวิตกว่าถือศีลไม่ร่ำรวยนั้น ไม่ร่ำรวยในทางสุจริตจริง ถ้าคิดดูโดยรอบคอบจักเห็นว่าศีลเป็นข้อยกเว้นจากการถือเอาในทางทุจริต จึงไม่ได้ทางนั้นตรงตัวอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้เสียหายยากจนเพราะทุจริตของตนทั้งส่วนตัวทั้งส่วนรวม และเมื่อตั้งใจประกอบอาชีพโดยชอบด้วยความไม่ประมาทก็จักตั้งตนได้โดยลำดับ ผู้ที่มาถือเอาในทางทุจริต ถึงจะร่ำรวยขึ้นก็เหมือนปลวกอ้วนเพราะกัดเสากับฝาเรือน ปลวกกัดเรือนยิ่งมากยิ่งอ้วนขึ้นเท่าไร เรือนก็ใกล้พังเข้าไปเท่านั้นจนอาจพังครืนลงไป ฉะนั้น โภคทรัพย์จะสมบูรณ์พูนเพิ่มก็เพราะพากันประกอบกระทำในทางที่ชอบ ที่สุจริต และไม่ทำตัวเป็นปลวกอ้วน


  คำสอนที่ ๘๑  

ที่ว่าถ้ามัวถือศีลธรรมจะอยู่ในหมู่คนไม่ได้จะต้องหลบไปอยู่คนเดียวนั้น จึงผิดไปเสียแล้ว เพราะเมื่อ พิเคราะห์ดูตามเป็นจริงแล้ว กลับเห็นว่าจะต้องหลบไปอยู่คนเดียวเพราะไม่ถือศีลธรรมมากกว่า คนที่อยู่ด้วยกันได้เพราะถือศีลธรรมต่อกัน แม้หมู่โจรจะปล้นคนอื่นก็ต้องไม่ปล้นกันเองจึงคุมกันเป็นหมู่ อยู่ด้วยกันได้ แปลว่าต้องมีศีลธรรมต่อกันนั่นเอง


  คำสอนที่ ๘๒  

ศีลและธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทศีลเป็นเหตุให้งดเว้นไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ ธรรมเป็นเครื่องบำรุงจิตให้งดงามสร้างอัธยาศัยนิสัยที่ดี ศีลเป็นเหตุให้งดเว้นไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ ถ้ามีเพียงศีลก็มีเพียงงดเว้นได้จากโทษ แต่ก็ยังมิได้ทำความดี ถ้ามีธรรมอยู่ด้วย จึงจะนำให้คุณความดีและทำให้จิตใจงามดังเช่น ไม่ฆ่าสัตว์เพราะมีศีล และเกื้อกูลสัตว์ด้วยเมตตากรุณาเพราะมีธรรม ความเมตตากรุณาซึ่งเป็นธรรมจึงอยู่คู่กับการไม่ฆ่าสัตว์ คือมีศีล


  คำสอนที่ ๘๓  

การหัดทำสมาธิอยู่เสมอ ให้จิตได้สมาธิที่ดีขึ้น และออกไปทำงานก็ใช้สมาธิในการทำงาน คือไม่ใช้สมาธิมากำหนดอยู่ในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง นำสมาธินั้นกำหนดในงานที่ทำงานที่ทำนั้นจะดีขึ้นเพราะว่าพลังของสมาธินั้น เป็นอันเดียวกัน คือความที่มีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ เมื่อน้อมไปตั้งอยู่ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วก็จะตั้งอยู่ในเรื่องนั้นได้มั่นคง เอาสมาธินั้นมาตั้งในงานที่ทำก็จะทำงานได้ดีและได้ตัวปัญญาอันเป็นผลของสมาธิเมื่อมีสมาธิในการทำงาน ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้ดีเมื่อจะทำอะไรก็ใช้สมาธิในสิ่งนั้น ก็ได้ปัญญาในสิ่งที่ทำนั้นทุกอย่าง


  คำสอนที่ ๘๔  

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาดูตัวเองดูกาย ดูวาจา ดูใจ ดูจิตตนเองเหมือนอย่างใช้แว่นส่องดูหน้าตัวเอง ซึ่งคำสั่งสอนของพระองค์ในข้อนี้ก็ทรงมุ่งถึงให้ใช้ปัญญาของตนเองนี่แหละพิจารณาเหมือนอย่างใช้แว่นส่องพิจารณาหน้าของตนเอง และในการนี้ก็อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสั่งสอนให้ปฏิบัติดังนี้


  คำสอนที่ ๘๕  

เมื่อปฏิบัติหัดจิตให้น้อมมาในทางกุศลแล้วคือตรึกนึกคิดตริตรองมาในฝ่ายกุศลมาก จิตก็จะตั้งอยู่ในฝ่ายกุศลมาก และก็จะทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิได้ง่ายจึงตรัสเปรียบไว้ว่า เหมือนอย่างคนเลี้ยงโคที่ต้อนโคเลี้ยงไปในปลายฤดูร้อน ท้องนาก็ไม่มีข้าวกล้าก็ปล่อยโคให้เที่ยวหากินไปตามสบาย ไม่ต้องกลัวว่าโคจะไปแวะเวียนกินข้าวกล้าของชาวนา จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ฝึกหัดปฏิบัติให้น้อมมาทางกุศลมากก็จะตั้งอยู่ในกุศลมากอยู่ตัวในทางกุศลมาก


  คำสอนที่ ๘๖  

อาหารที่เป็นของจิตโดยตรงนั้น ก็คือธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูล เช่นว่าเมื่อได้ทำทานก็ได้ปีติได้สุขในทานจิตก็ดื่มปีติสุขที่เกิดจากทาน และเมื่อทานที่บริจาคที่ทำไปนั้นขัดเกลาโลภะมัจฉริยะในจิต เมื่อโลภะมัจฉริยะเบาบางลง จิตก็บริสุทธิ์ผ่องใสก็เกิดสุขปีติอันเกิดจากความบริสุทธิ์ จิตก็ได้ดูดดื่มปีติสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์นั้น


  คำสอนที่ ๘๗  

ความเมตตา เป็นธรรมที่ทำให้คนเรามีคุณธรรม เมตตาคือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ผู้ที่มีเมตตาคือผู้ที่มีความเป็นมิตร ตรงกันข้ามกับศัตรูซึ่งมีจิตพยาบาทมุ่งร้าย เมตตาตรงข้ามกับโทสะ พยาบาท เมตตาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ แต่โทสะพยาบาทเป็นเครื่องทำลายล้าง เมื่อเรามีความเมตตาต่อกันย่อมคิดที่จะเกื้อกูลกันให้มีความสุข ผิดพลาดไปบ้างก็ให้อภัยกัน แต่ถ้าขาดเมตตาต่อกันแล้วก็จะมีแต่ การทำลาย มีความพยาบาทใครทำความไม่พอใจให้ก็จะตอบแทนด้วยความไม่พอใจเช่นกัน จึงควรมีเมตตาต่อกันเพื่อสังคมที่เป็นสุข


  คำสอนที่ ๘๘  

เมตตา ความมีจิตเย็นสนิทด้วยความปรารถนาสุขแก่ผู้อื่นสัตว์อื่น เป็นความรักที่เย็นสนิท ไม่ใช่ร้อนรน เหมือนอย่างมารดาบิดารักบุตรธิดาถ้าได้อบรมเมตตาให้มีประจำจิตใจ ก็จะเป็นอาหารใจที่วิเศษ เพราะเมื่อใจได้บริโภคเมตตาอยู่เสมอ จะเป็นจิตใจที่ระงับโทสะพยาบาท มีความสุขเย็นทำให้ ร่างกายมีความสุขเย็นไปด้วย ได้ในคำว่า ทำใจให้สบาย ร่างกายก็สบาย แม้จะขาดวัตถุไปมากหรือน้อยก็ไม่เป็นทุกข์


  คำสอนที่ ๘๙  

เมตตากรุณา เป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความโกรธ การเจริญเมตตาจึงเป็นการแก้ความโกรธที่ได้ผล ผู้เจริญเมตตาอยู่เสมอเป็นผู้ไม่โกรธง่าย ทั้งยังมีจิตใจเยือกเย็นเป็นสุขด้วยอำนาจของเมตตาอีกด้วย


  คำสอนที่ ๙๐  

วิธีปลูกเมตตา คือ คิดตั้งปรารถนาให้เขาเป็นสุข และคิดตั้งปรารถนาให้เขาปราศจากทุกข์นั้นเป็นกรุณา ทีแรกท่านแนะนำให้คิดไปในตนเองก่อน แล้วให้คิดเจาะจงไปในคนที่รักนับถือ ซึ่งเป็นที่ใกล้ชิดสนิทใจอันจะหัดให้เกิดเมตตากรุณาได้ง่าย ครั้นแล้วก็หัดคิดไปในคนที่ห่างใจออกไปโดยลำดับ จนในคนที่ไม่ชอบกันเมื่อหัดคิดโดยเจาะจงได้สะดวก ก็หัดคิดแผ่ใจออกไปด้วยสรรพสัตว์ไม่มีประมาณทุกถ้วนหน้า เมื่อหัดคิดได้ดังกล่าว บ่อย ๆ เมตตากรุณาจะเกิดขึ้นในจิตใจ


  คำสอนที่ ๙๑  

ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยเมตตากรุณาของผู้อื่นมาตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระมหากษัตริย์และรัฐบาล ญาติมิตรสหาย เป็นต้น ถึงไม่ถูกใครฆ่าก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้เลยเหมือนอย่าง มารดา บิดา ทิ้งทารกไว้เฉย ๆ ไม่ถนอมเลี้ยงดู ไม่ต้องทำอะไรทารกจะสิ้นชีวิตไปเอง ฉะนั้น เมื่อทุก ๆ คนมีชีวิตเจริญมาได้ด้วยความเมตตากรุณาของท่าน ก็ควรปลูกเมตตากรุณาในชีวิตอื่นสืบต่อไป


  คำสอนที่ ๙๒  

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่า ทรงมีพุทธานุภาพให้ผู้นับถือไปรบใครแล้วก็ชนะ หรือว่าไปแข่งขัน อะไรกับใครแล้วก็ชนะ มีพุทธานุภาพที่จะทำให้ไม่ต้องเจ็บไม่ต้องตาย มีพุทธานุภาพที่จะทำให้พ้นจากผลกรรมของตนที่พึงได้รับ ปัดเป่าให้พ้นจากผลร้ายอันจะเกิดจากผลกรรมที่ตนเองทำไว้ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมดีจักได้ดี ทำกรรมชั่วจักได้ชั่ว เพราะฉะนั้น ถ้าพระองค์ไปทรงช่วยได้ว่าทำกรรม ชั่วแล้วไม่ต้องได้ชั่ว ธรรมที่พระองค์ทรงสอนไว้กลับกลายเป็นไม่จริง ไม่ใช่เป็นสัจธรรม ธรรมที่เป็นตัวความจริง


  คำสอนที่ ๙๓  

พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะ คือทรงชนะพระหฤทัยของพระองค์แล้ว ด้วยพระบารมีคือความดี ที่ทรงสร้างมาจนบริบูรณ์ ใครมีเรื่องจะต้องผจญใจก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรงพิชิตมารดังกล่าวนี้เถิด จะสามารถชนะใจตนเอง และจะเอาชนะเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ แต่ขอให้ระลึกถึงด้วยความตั้งใจจริงจนเกิดความสงบ แล้วจักเห็นหนทางชนะขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์


  คำสอนที่ ๙๔  

ผู้ชนะนั้นมักเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ได้แต่โดยที่แท้เป็นผู้เสีย คือเสียไมตรีจิตของอีกฝ่ายหนึ่งไปหมดสิ้นหรือจะเรียกว่าได้ก็คือได้เวร เพราะผู้แพ้ก็จะผูกใจเพื่อจะเอาชนะต่อไป จึงเป็นอันว่าไม่ได้ความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้ที่ละได้ทั้งแพ้และชนะจึงจะได้ความสงบสุขทั้งนี้ก็ด้วยการไม่ก่อเรื่องที่จะต้องเกิดมีแพ้มีชนะกันขึ้น แต่เมื่อจะต้องให้มีเรื่องให้แพ้ฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่ง ก็ควรจะต้องมีใจหนักแน่นพอที่จะเผชิญได้ทุกอย่าง


  คำสอนที่ ๙๕  

ทางที่ถูก ควรจะเอาชนะอุปสรรคในทางที่ชอบและพยายามรักษาส่งเสริมความดีของตน คิดให้เห็นว่าเราทำความดีก็เพื่อความดี มิใช่เพื่อให้ใครชม ใครจะชมหรือติ เราก็ยังไม่ควรรับหรือปฏิเสธ ควรนำมาคิดสอบสวนตัวเราเองดูเพื่อแก้ไขตัวเราเองให้ดีขึ้น แต่ไม่รับมาเป็นเครื่องหลอกตัวเองว่าวิเศษเพราะเขาชมหรือเลวทรามเพราะเขาติ เขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เราจะดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่การกระทำของเราเอง


  คำสอนที่ ๙๖  

โดยมากอุปสรรคต่าง ๆ เป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยไม่มีสาระ แต่มักจะรับเข้ายึดถือเป็นอารมณ์กวนใจให้เดือดร้อนไปเอง จนถึงให้ทอดทิ้งความดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด แต่เป็นความเขลาของเราเอง และทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นผู้แพ้ ส่วนการชนะนั้น ก็มิได้ประสงค์ให้ชนะในทางก่อเวรแต่มุ่งให้เอาชนะตนเอง คือชนะจิตใจที่ใฝ่ชั่วของตน และเอาชนะเหตุการณ์แวดล้อมที่มาเป็นอุปสรรคแห่งความดีเพื่อที่จะรักษาและ เพิ่มพูนความดีของตนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น


  คำสอนที่ ๙๗  

มาร แปลว่า ผู้ฆ่า ผู้ทำลายล้าง มารข้างนอกคือผู้มุ่งทำลายล้างข้างนอก มารข้างใน คือกิเลสในใจของตนเอง เป็นต้นว่าความรัก ความชัง ความหลง ซึ่งบังใจเราไม่ให้เกิดปัญญาในเหตุผล เมื่อชนะมารในใจของตนได้แล้ว มารข้างนอกก็ทำอะไรไม่ได้


  คำสอนที่ ๙๘  

ความดีที่จะทำให้สำเร็จการชนะนั้นก็ต้องใช้ปัญญาค้นหา คือวิธีชนะที่จะไม่ต้องเบียดเบียนใครเป็นความดีชั้นตรี ถ้าเป็นการชนะชนิดที่เกื้อกูลเขาอีกด้วย โดยเฉพาะทำให้เขาซึ่งเป็นคนไม่ดีเลิกละความไม่ดีของเขา หรือกลับเป็นคนดีก็นับว่าเป็นความดีชั้นโท ส่วนความดีชั้นเอกก็คือความดีที่ชนะความชั่วของตนเอง


  คำสอนที่ ๙๙  

สมัยนี้มีผู้ชอบกล่าวว่า เงินไม่มี เกียรติไม่มีนั่นไม่ใช่ความถูกต้อง เป็นความรู้สึกของคนบางคนเท่านั้น เงินกับเกียรติมิใช่เป็นอัน หนึ่งอันเดียวกัน มิใช่เป็นสิ่งที่แยกจากกันมิได้ คนไม่มีเงิน แต่มีเกียรติก็มีอยู่ความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินที่มีหรือที่ได้มานั้น เป็นเงินที่จะทำให้เกียรติยศชื่อเสียงสิ้นไปหมดไปหรือไม่ ควรจะพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ยังคำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศของตนและของวงศ์ตระกูล


  คำสอนที่ ๑๐๐

 

การรักษาเกียรติเป็นการรักษาธรรมอย่างหนึ่งจะก้าวหน้าหรือถอยหล้งด้วยเกียรติหรือเพื่อเกียรติก็เป็นสิ่งที่พึงสรรเสริญเท่ากัน ดังเรื่องราชสีห์ถอยหลังให้แก่สุกรตัวเปื้อนคูถ (อุจจาระ) ไม่ยอมต่อสู้ด้วยในนิทานสุภาษิต


[1]พระธรรมเทศนา สมเด็จพระสังราชฯ กรุงรัตนโกสินทร์
***************

ตัวอย่างคำโปรยหนังสือ[1]ที่เกี่ยวกับ สมเด็จพระสังฆราช[แก้ไข]


คำโปรยหนังสือของห้างร้าน, บริษัท และสำนักพิมพ์
  บริษัท สถาพรบุ๊คส์  

พระพุทธศาสนานั้น เปรียบดังเพชรน้ำหนึ่ง เนื้อแข็งบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งสกปรกใดจะแทรกซึมเข้าใยเนื้อเพชรได้ ฉันใดฉันนั้นก็ไม่มีความสกปรกใดจะแทรกซึมเข้าปะปนพระพุทธศาสนาได้ ได้ก็แต่เพียงแวดล้อมอยู่ภายนอก ไม่มีบุญใดจะยิ่งใหญ่เท่าบุญที่เทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเป็นที่เชื่อในหมู่ผู้ได้ประสพพบเห็นด้วยตนเอง ว่าแม้เมื่อถึงเวลาที่กรรมไม่ดีที่ทำไว้ส่งผล จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อานุภาพแห่งบุญที่ทำไว้ในพระพุทธศาสนา แม้มากเพียงพอในปัจจุบัน ย่อมพิทักษ์รักษาให้ได้พ้นจากความเจ็บปวดทรมาน อย่างเป็นที่น่าประหลาดมาก (:หนังสือของสำนักพิมพ์ ธรรมสถาพร).

  บริษัท สถาพรบุ๊คส์  

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่าย คามวาสี เป็นสังฆราชขวาสมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดีและมาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน (:หนังสือของสำนักพิมพ์ พิมพ์คำ).

  บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น  

หนังสือเล่มนี้จะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับพระประวัติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อย่างละเอียดลึกซึ้ง นับตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ กระทั่งเข้าสู่เส้นทางธรรม และได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ของประเทศไทย จวบจนปัจจุบัน ซึ่งยังคงเป็นเสาหลักแห่งบวรพระพุทธศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย ทุกเรื่องราว ทุกพระจริยวัตร และทุกพระกรณียกิจอันดีงามที่ท่านทรงปฏิบัติอย่างเสมอมาตลอดเวลา 96 ปี ถูกเรียบเรียงไว้แล้วอย่างครบถ้วนในหนังสือเล่มนี้ ถ่ายทอดด้วยภาษาที่อ่านง่าย เป็นระบบระเบียบ พร้อมภาพประกอบที่หาชมได้ยาก ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการศึกษาอ้างอิงสำหรับผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดี (:หนังสือของสำนักพิมพ์ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช).

  บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น  

“ชีวิตนี้สำคัญนัก” เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ช่วยให้เราได้ตระหนักถึงความดี ความงาม และคุณค่าของชีวิต ถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย จับจิตจับใจ มีข้อคิดสาระที่เป็นประโยชน์สอดแทรกในแต่ละบรรทัด ซึ่งคุณสามารถหยิบยกมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี (:หนังสือของสำนักพิมพ์ ธรรมสภา).

หมายเหตุ[แก้ไข]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 หนังสือ “๑๐๐ คำสอน สมเด็จพระสังฆราช” ที่จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2556 รายได้จากหนังสือเล่มนี้จะนำสมทบทุนซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์มอบแก่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อถวายเป็นสักการบูชาแด่สมเด็จพระญาณสังวร โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธานจัดหาทุนดังกล่าว และโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ดำเนินโครงการ ท่านผู้อ่านสามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ในราคา 100 บาท ที่ ธนาคารกสิกรไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เป็นหนังสือเล่มไม่หนาจนเกินไปนัก คัดเลือกมาเฉพาะคำสอนที่เป็นแก่นของชีวิตโดยสมเด็จพระสังฆราช รวม 100 คำสอน ตามชื่อเรื่องที่ตั้งไว้ ขอเรียนว่าเป็นคำสอนที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง...และเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับเป็น ส.ค.ส.ปีใหม่ 2555 ที่กำลังจะมาถึง. (คำอธิบายหนังสือ เมื่อ ๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๔ นสพ. ไทยรัฐ)

ประกาศซึ่งลิขสิทธิ์ทั้งปวงเกี่ยวกับ ศาสนาคำสอน อาจได้รับการยกเว้นแต่!
ทั้งนี้ยังคงให้การเผยแพร่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือประกาศ ที่เป็นปัจจุบันในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย