สืบ นาคะเสถียร

จาก วิกิคำคม

สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติคนสำคัญของไทย มีบทบาทและชื่อเสียง จากการทำงานอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

แนวคิดและอุดมการณ์ของสืบ[แก้ไข]

  • "ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน"
  • "ผมหันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคน เพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรมเรารังแกชาวบ้าน"
  • ผมคิดว่า ชีวิตผมทำได้ดีที่สุดแล้ว เท่าที่ผมมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว และ...ผมพอใจ ผมภูมิใจสิ่งที่ผมทำ ...

แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์และการพัฒนา[แก้ไข]

  • หนังสือเสียงเพรียกจากพงไพร. ธันวาคม 2533 - ...แต่อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้หมายถึงการเก็บรักษาโดยไม่นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นการใช้อย่างถูกต้อง โดยวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่ดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ไม่เฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ในทุก ๆ ด้าน และยังคงมีเหลืออยู่มาก พอที่จะเป็นทุนให้เกิดการพอกพูนขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก และยั่งยืนต่อไปในอนาคต. ดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์ มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่างหาก
  • สารคดี ฉบับ 65หน้า 95, กรกฎาคม 2533 - ผมอยากเห็นว่า เราควรจะเปลี่ยนแนวทางที่จะพัฒนา ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับ การดำเนินการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่มัวพูดกันว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่เราควรจะหันมาสนใจว่า เราจะรักษา สภาวะแวดล้อมหรือทรัพยากรที่เหลืออยู่จำกัดได้อย่างไร เราต้องประหยัดการใช้ใช่ไหม เราจะต้องหามาตรการควบคุมในทางปฏิบัติให้ได้
  • สารคดี ฉบับ 65 หน้า 99, กรกฎาคม 2533 - จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะเปิดใจกว้าง โดยการให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้นำในท้องถิ่น ผู้แทนราษฎร นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มาพูดคุยร่วมกัน คือบางคนอาจจะต้องรับสถานภาพของบางกลุ่ม ข้าราชการอาจต้องยอมรับสถานภาพของประชาชน คือ ลดตัวลง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มฐานะของเขาให้ขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน แทนที่จะพูดกันคนละที
  • สารคดี ฉบับ 65 หน้า 99, กรกฎาคม 2533 - ผมคิดว่ามันหมดยุคแล้ว มันควรจะมาถึงยุคที่ทุกคนมีความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แนวความคิดเรื่องการรักษาป่า[แก้ไข]

  • สารคดี ฉบับ 68 หน้า 105, ตุลาคม 2533 - ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ ๒๐ แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึง เก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ ของการควบคุมสภาวะแวดล้อมอะไรต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตของธาตุอาหาร หรือความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิด ของความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน
  • สารคดี ฉบับ 65 หน้า 93, กรกฎาคม 2533 - สิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอก็คือ ป่าเราเก็บไว้เฉย ๆ ก็เป็นการอนุรักษ์ที่เราได้ประโยชน์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตัดมาใช้ ต้นไม้ให้อากาศ ให้น้ำ...นี่เป็นการใช้ใช่ไหม ใช้โดยที่เราไม่ต้องไปตัดเอาส่วนของมันมาใช้
  • สารคดี ฉบับ 65 หน้า 94, กรกฎาคม 2533 - ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม...มันจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ จะต้องมองว่ามีการใช้ทั้งทางตรงทางอ้อม ป่าที่เก็บไว้ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติควรจะใช้ประโยชน์ในทางอ้อม
  • สารคดี ฉบับ 65 หน้า 96, กรกฎาคม 2533 - ถ้าเผื่อเรามีทรัพยากรที่เป็นลุ่มน้ำอยู่มาก แล้วเรารักษาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ได้บางส่วน ใช้ไปบางส่วน เหมือนสมัยที่เรามีป่ามาก เราอาจจะสร้างเขื่อนได้บางแห่ง แต่ในปัจจุบัน ลักษณะของพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำที่เหมาะจะสร้างเขื่อนให้ได้ปริมาณน้ำมาก ๆ เอามาผลิตกระแสไฟฟ้ามันเหลือน้อย และการที่เราสร้างเขื่อนไปก่อน แล้วค่อยตามแก้ไขผลกระทบทีหลัง ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ในทางปฏิบัติ...เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว อย่างที่เขาใหญ่ก็เริ่มจะพูดถึงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ หากว่าการสร้างเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังทำได้อีกต่อไป ผมคิดว่าป่าอนุรักษ์ในอนาคตคงไม่มีความหมายอะไร เหลือแต่ชื่อเอาไว้ว่า เคยเป็นป่าอนุรักษ์มาก่อน
  • พีเพิล ฉบับ 21 หน้า 61, สิงหาคม 2533 - ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ป่าไม้เมืองไทยก็ยังลดลงตลอดเวลา นโยบายป่าไม้แห่งชาติ จึงออกมาเพื่อควบคุม พ.ร.บ.ป่าไม้อีกที โดยเขาแบ่งป่าออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ป่าอนุรักษ์กับป่าเศรษฐกิจ โดยให้ป่าเศรษฐกิจ ๒๕% กับป่าอนุรักษ์ ๑๕% ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศทั้งหมด ๔๐% ซึ่งมองแล้วมันดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันจะเพิ่มในแง่ของป่าเศรษฐกิจ พวกยูคาลิปตัส ซึ่งไม่ได้เน้นในเรื่องของระบบนิเวศวิทยา การที่เราปลูกไม้โตเร็ว ๒-๓ ชนิด แล้วไปตัดไม้ในป่าธรรมชาติ ผมคิดว่ามันไม่มีทางรักษาป่า หรือทำให้เป็นป่าธรรมชาติได้อีก สำหรับป่าธรรมชาติตอนนี้เหลืออยู่เพียง ๑๙% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ ลำธาร อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประมาณ ๙% ส่วนอีกไม่ถึง ๑๐% เป็นป่าสงวนที่อยู่รอบ ๆ ป่าอนุรักษ์ ตัวนี้แหละที่ถูกราษฎรบุกรุกอยู่ทุกวันโดยอ้างว่าไม่มีที่ดินทำกินและมีการซื้อขายอย่างผิดกฎหมาย โดยพวกนายทุนที่อยู่ในเมืองหรือมีอิทธิพล หนทางแก้ไข มันต้องหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งอันนี้ต้องมีการประสานกันทุกฝ่าย หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ต้องรับรู้นโยบายกันบ้าง แล้วก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ถ้าเขาขายที่ดินอันนี้ไปแล้ว เขาไม่มีทางไปอีกนั่นแหละจึงจะสามารถหยุดปัญหานี้ได้
  • อิมเมจ ฉบับ 3 หน้า 32, มีนาคม 2533 - ถึงแม้จะหยุดป่าสัมปทานแล้วก็ตาม แต่ราษฎรที่บุกรุกอยู่ในเขตป่าสงวนตอนนี้ ล้านกว่าครอบครัว ป่าไม้ที่ไหนจะเหลือ นอกจากความจริงใจของรัฐบาล เค้าบอกว่าจะต้องรักษาป่าให้ได้โดยการจำแนกพื้นที่ออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบอกเลยว่าป่าสงวนตรงนี้ห้าม ห้ามมีกรรมสิทธิ์ ห้ามเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ตอนนี้ป่าหมดเพราะอะไรรู้ไหม เพราะป่าสงวนหมดสภาพ สามารถเปลี่ยนแปลง เป็นป่ายูคาลิปตัสได้ ผมไม่อยากจะเรียกป่า เพราะมันไม่ใช่ป่า

แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า[แก้ไข]

  • เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๒ - การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย จะสามารถประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจ และความจริงใจต่อการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นแล้วจำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์เหล่านี้ก็จะต้องสูญไป พร้อมกับการบุกรุกทำลายป่า ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาที่ต้องตัดป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าออกและรวมถึงการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อกิจการอื่น ๆ
  • อิมเมจ ฉบับที่ ๓ หน้า ๓๑,มีนาคม ๒๕๓๓ - ปัญหาของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ช่องว่างของกฎหมายที่อนุญาต ให้บุคคลมีสัตว์ป่าไว้ครอบครองโดยไม่ต้องขออนุญาต สิ่งนี้เป็นช่องทางให้การล่าสัตว์ มันเหมือนกฎหมายสัตว์ป่าที่คุณบอกว่า คุณสามารถที่จะมีเก้ง มีกวาง มีเสือ มีหมาไน หมาจิ้งจอก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พวกนี้มีไว้ในครอบครองได้ ถ้าไม่เกินปริมาณที่กำหนด ทำไมในเมื่อเราคุ้มครองแล้ว ทำไมเราไม่คุ้มครองมันทุกตัว แก้กฎหมายสิ
  • เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๓-๔๔ - สัตว์ป่าที่ถูกเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ถ้าสามารถรอดชีวิตมาได้จนโต จะคุ้นเคยกับคน จนไม่สามารถปล่อยให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในป่าได้ตามลำพังอีก... และส่วนมากลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในกรง ก็มักจะไม่แข็งแรง และเมื่อมันโตขึ้นก็จะเกิดการผสมกันเองในครอบครัวเดียวกัน... เรากำลังพูดกันมากว่าจะอนุรักษ์กันอย่างไร แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษาชีวิตสัตว์ให้รอดอยู่ แตกต่างอย่างมากมายกับการอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ
  • สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๑๐๐,กรกฎาคม ๒๕๓๓ - พวกที่ชอบล่าสัตว์ป่าและพวกชอบกินเนื้อสัตว์ป่า ผมขอเถอะ พวกที่ชอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็เช่นกัน ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าอยู่แล้ว
  • สารคดี ฉบับ ๖๘ หน้า ๑๐๕,ตุลาคม ๒๕๓๓ - ในแง่ของการอนุรักษ์ คือการที่เราจะช่วยเหลือไม่ให้มันสูญพันธุ์ การทำให้มันมีประชากรเพิ่มขึ้น จะเป็นในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยมันคืนไปในป่าธรรมดา ให้มันปรับตัวแลัวเพิ่มประชากรโดยตัวของมันเองได้ นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ แล้วพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอามันออกมาทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ มันก็จะผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะด้อยเพิ่มขึ้น