สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

จาก วิกิคำคม

คำพูด[แก้ไข]

  • ผมเคยคุยกับกรรมกรก่อสร้าง (ไม่ใช่คนนี้) เขาบอกว่า เขากินเหล้าเพราะชีวิตไม่มีอะไร ทุกวันต้องทำงานหนักมาก ไม่มีวันลา หยุดวันไหนก็อด ได้ค่าแรงมาก็เพียงอยู่รอดไปวันๆ ความสุขในชีวิตคนมีเงินน้อยก็คือเหล้าขาว ตั้งวงกินเหล้า คุยกันไป เมาจนหลับ ลืมเรื่องทุกข์เรื่องจน ตื่นมาก็แบกหามต่อไป ชีวิตวนเวียนเป็นวงจร ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต พอแก่ตัวทำงานไม่ไหวก็ตายจากไป เหล้าจึงมีฐานะเป็นเครื่องมือคลายทุกข์ราคาถูก และนานเข้าก็ติดเหล้า เลิกไม่ได้ในที่สุด
  • ปลดปล่อยประชาชนจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากรัฐและทุนจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์หลักในการร่างรัฐธรรมนูญคือหัวใจที่ทำให้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว 2540 เกิดจากจิตวิญญาณของภาคประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยเต็มใบที่ไปให้พ้นจากการครอบงำของฝ่ายทหาร และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างในยุคเผด็จการ คสช.นี้ ชัดเจนว่ามีจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์หลักที่ร่างเพื่อสืบทอดรักษาฐานอำนาจเผด็จการ คสช.ไว้ให้ยาวนานที่สุด และรวมทั้งเสริมสร้างฐานความเข้มแข็งของรัฐราชการให้แข็งแกร่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “เพิ่มอำนาจรัฐ ขจัดอำนาจประชาชน”[1]
  • ปัญหาของคนใต้นั้น รัฐไทยคืออุปสรรคอันสำคัญยิ่ง ทั้งในแง่ของการละเลยการทำหน้าที่ที่ควรจะทำในการปกป้องและดูแลประชาชน และทั้งในเง่ของการที่รัฐไทยทำตัวเป็นผู้นำการทำลายล้างเสียเอง แล้วเราภาคประชาชนจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ประท้วงไปทีละประเด็นๆ ไปกระนั้นหรือ ยื่นหนังสือฉบับที่นับไม่ถ้วนกระนั้นหรือ บุกศาลากลางบุกทำเนียบฯ ด้วยความเหนื่อยยากอีกแล้วหรือราชการเป็นอุปสรรค[1]
  • ดังนั้นเมื่อรัฐไทยคือตัวปัญหา และกลไกของรัฐไทยคือกลไกราชการเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหา ทั้งด้วยการติดที่วิธีคิด ติดข้อกฎหมายและระเบียบที่รุงรังยิ่งกว่าสายไฟบนท้องถนน รวมถึงติดขัดที่ความไร้ประสิทธิภาพของระบบในการทำหน้าที่ การแก้ปัญหาทีละประเด็นคงไม่ไหวแน่ เช่นนี้แล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นคำตอบแห่งความหวังที่ไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา คือรัฐไทยที่ไร้ประสิทธิภาพและไร้ซึ่งจุดยืนในการยืนข้างประชาชนได้หรือไม่ นี่คือคำถามสำคัญของสังคมไทย[1]
  • สำหรับผมปัญหาปากท้องไม่ได้เกิดจากชาวบ้านขี้เกียจทำกิน  ไม่ได้เกิดจากชาวบ้านมีความรู้น้อยจึงโง่จนเจ็บ แต่ที่ยังจนยังลำบาก และการที่คนทั่วไปทำงานขยันขันแข็งทั้งชีวิตแต่ก็ยังไม่สามารถเงยหน้าอ้าปากได้ เป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างรัฐไทยที่พิกลพิการ การต่อสู้แก้ปัญหาทีละประเด็นคงไปไม่ถึงไหนแน่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจส่วนบนคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น หากต้องการนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นวิกฤติ ไม่ใช่การทำตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อวางโครงสร้างของรัฐไทยใหม่ ให้เป็นประเทศไทยที่อำนาจรัฐส่วนกลางลดลง เพิ่มอำนาจประชาชนในการจัดการตนเองเพิ่มขึ้น[1]
  • ยิ่งเมื่อวิญญาณของรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ ไม่มีวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย แต่กลับเน้นไปที่การรักษาฐานอำนาจเผด็จการและเสริมสร้างพลังอำนาจในการนำพาประเทศด้วยรัฐราชการที่คร่ำครึและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังกดทับสิทธิเสรีภาพ เบียดขับบทบาทภาคประชาชน เมินเฉยการกระจายอำนาจ ละเลยการปฏิรูป ไม่เห็นกลไกการแก้ความเหลื่อมล้ำ และไม่เห็นอนาคตที่หวังได้ในการนำประเทศชาติในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ใหม่ทั้งฉบับ จึงมีเป็นวาระร่วมที่จำเป็นอย่างยิ่งของประชาชนทุกคนในสังคมไทย[1]

อ้างอิง[แก้ไข]