เรื่องการบวช

จาก วิกิคำคม

สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ที่พระราชวังดุสิต สถานีวิทยุเผยแผ่บทพระธรรมเทศนา เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงผนวช มีเนื้อหา ดังนี้


การบวช
 

“ คำว่าบวชนั้นมาจากภาษาสันสกฤตว่า ปรวรัชยา หรือคำบาลีว่า ปวัชชะ คือการสละโลกหรือปลีกตนออกจากชีวิตสามัญแห่งโลก เพื่อบำเพ็ญความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง การบวชนั้นมีมาแต่สมัยก่อนพุทธกาล แต่ในศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีอยู่ก่อนพุทธกาลนั้น การบวชมิใช่สิ่งที่ชนทั่วไปกระทำได้ด้วยความสมัครใจ เพราะมีกฏเกณฑ์ต่าง ๆ วางไว้มาก ในประการแรกผู้ที่จะบวชได้จะต้องเป็นบุคคลที่เรียกว่า ไตรวรรณิกะ คือผู้ที่ถือกำเนิดมาในวรรณะสูง วรรณะใดวรรณะหนึ่งในสามวรรณะ อันได้แก่วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะไวสยะ ในประการที่สองก่อนที่จะบวชบุคคลจะต้องบำเพ็ญกิจมาแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ เป็นต้นว่าอยู่ในปัจฉิมวัยและได้เป็นผู้ครองเรือนมาแล้ว หรือได้ออกป่าบำเพ็ญพรตเป็นตาปสะ คือผู้เผาหรือบูชากองเพลิงมาแล้ว หรือมิฉะนั้นก็ได้ผ่านระยะเวลาแห่งการเป็น อุปณยนะ คือผู้ศึกษาพระเวทกับพระอาจารย์มาแล้ว แต่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระศาสนา ได้ทรงรับบุคคลเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมิได้ทรงถือกฎเกณฑ์ของพราหมณ์ดังแต่ก่อน ที่สำคัญนั้นก็คือมิได้ทรงถือวรรณะ และมิได้ทรงถือเกณฑ์อายุ และกรณียกิจที่ได้บำเพ็ญมาแล้วเป็นกำหนด บุคคลใดที่เป็นมนุสส์ มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ คือเป็นผู้ใหญ่มีสติปัญญาเห็นเหตุผลตามสมควร มิได้มีข้อผูกมัดกับผู้อื่นเช่น หนี้สินหรือภาระทางการงาน และมิได้มีโรคอันอาจเป็นอันตรายต่อภิกษุอื่นแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้บวชได้ การบวชในพระพุทธศาสนาจึงขยายออกไปในหมู่ชนโดยกว้างขวางยิ่งกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน โดยถือเอาศรัทธาของผู้ที่ประสงค์จะบวชเป็นมูล ดังนี้ พระบาลีว่า สทฺธา อคารสฺมา อนาคาริยํ ปพฺพชิตา มีศรัทธาบวชออกจากเรือนเป็นผู้ไม่มีเรือนดังนี้

 
 ได้กล่าวมาแล้วว่าวัตถุประสงค์แห่งการบวชนั้นก็เพื่อบำเพ็ญความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง การบวชในศาสนาพุทธนี้เป็นการบวชตามพระบรมศาสดา ได้ชื่อว่าเข้ามาสู่ความบริสุทธิ์และความสงบอันสมบูรณ์ เพราะพระธรรมวินัยอันภิกษุทั้งหลายพึงยึดถือปฏิบัตินั้นเป็นเครื่องห้ามป้องกันบาปอกุศลทั้งปวง ตั้งแต่บาปอกุศลชั้นต่ำสุดจนถึงสูงสุด และตั้งแต่หยาบที่สุดจนถึงละเอียดที่สุด ดั่งที่มีพระปาฐะแสดงไว้ถึงวัตถุประสงค์และผลแห่งการปฏิบัติธรรมไว้ว่า
 
  ธมฺโม จ เทสิโต ก็ธรรมที่พระตถาคตทรงแสดงแล้ว
  นิยฺยานิโก เป็นไปเพื่อออกจากทุกข์
  อุปสมิโก เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
  ปรินิพฺพานิโก เป็นไปเพื่อดับกิเลสและกองทุกข์
  สมฺโพธคามี ยังผู้ปฏิบัติให้ถึงความตรัสรู้ดีชอบ
 
 ฉะนั้นผู้ที่บวชในพระศาสนาจึงเป็นผู้เข้ามาสู่แหล่งแห่งความบริสุทธิ์เป็นอย่างยิ่ง มีความสงบอย่างไพศาล และเมื่อได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทั้งปวงด้วยดีแล้วย่อมไม่มีตกต่ำ มีแต่เจริญด้วยคุณธรรมทั้งหลาย

ความดีของการบวชนั้นจะกล่าวได้เป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ได้ประพฤติความดีอย่างสูง และได้เข้ามาอยู่ในหมู่คนที่มีความประพฤติความดีอย่างสูง จะเห็นได้ว่าผู้ที่บวชแล้วนั้นผู้ที่มิได้บวชกราบไหว้เคารพบูชา แม้แต่ผู้ใหญ่หรือบิดามารดาของตนเอง และพระภิกษุทั้งหลายก็ถือว่าผู้ที่ได้บวชแล้วนั้นมีฐานะเท่าเทียมกับท่าน เมื่อแสดงความเคารพต่อท่าน ๆ ก็แสดงความเคารพตอบ
  2. ได้เข้ามาใกล้ชิดพระธรรมวินัย ได้เข้าเนื่องในพระสังฆรัตนอันเป็นหนึ่งในสามพระรัตนตรัยที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกบูชากราบไหว้และยึดเป็นสรณะอยู่เป็นนิจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบพระศาสนา เพราะสมณวงศ์มีอยู่ได้และจะยังต้องมีต่อเนื่องกันไปไม่สูญสิ้นลงก็เพราะมีผู้ออกบวชนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือผู้ที่ออกบวชในพระพุทธศาสนาและอยู่ในภิขุภาวะนั้นเท่ากับเป็นประจักษ์พยานพิสูจน์ให้ศาสนิกชนเห็นได้จริงอยู่ตลอดไป ว่าธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่บุคคลปฏิบัติได้จริงและบังเกิดประโยชน์จริง มิใช่ของที่สุดวิสัยหรือล้าสมัยแต่อย่างไรเลย
  3. ได้สนองคุณบิดามารดาและญาติมิตรสหาย ด้วยการทำความปลื้มปิติให้ เรียกได้ว่าเป็นการสนองคุณด้วยอริยทรัพย์อันมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์อื่นใดในโลก เพราะการบวชนั้นเท่ากับได้ทำให้บิดามารดาและญาติมิตรทั้งหลายได้เป็นญาติกับพระศาสนา และชักนำให้ได้เข้าใกล้ชิดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอันเป็นอริยทรัพย์ที่มีค่าเกินกว่าจะพรรณนาได้
  4. ได้ปาฏิโภคคือความรับประกันตนเองว่าสามารถประพฤติดีได้ เพราะในขณะที่บวชนั้นหากได้ปฏิบัติพระธรรมวินัยโดยตั้งใจจนครบถ้วน ก็ได้สามารถปฏิบัติธรรมอันสูงและประณีตยิ่งกว่าธรรมใด ๆ ที่ถือปฏิบัติในขณะเป็นคฤหัสถ์ เมื่อได้กระทำของอันยากยิ่งและดียิ่งสำเร็จได้แล้ว ถึงแม้จะลาสิกขามาอยู่ในเพศคฤหัสถ์ก็คงจะต้องประพฤติตนเป็นคนดีได้ตลอดไป
  5. ได้รับการอบรมที่ดี การบวชนั้นกระทำให้บุคคลเข้ามาอยู่ในพระธรรมวินัย มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องอบรมให้ดี และมีพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ช่วยอบรมทางตรง มีเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นผู้อบรมทางอ้อมด้วยการอยู่ใกล้ชิด ได้เห็นความประพฤติอันพึงยึดถือเป็นตัวอย่างได้ ด้วยการอบรมที่ดีนี้ อุปนิสัยของผู้บวชก็ย่อมจะดีขึ้น และถึงแม้จะออกไปนอกสมณเพศแล้วก็จะได้นำความดีทั้งหลายไปอบรมคนอื่นที่อยู่ในครอบครัว เช่น บุตรภรรยาให้ดีขึ้นต่อไป ขนบธรรมเนียมประเพณีและมารยาทอันดีงามของไทยนั้นกล่าวได้ว่ามาจากศาสนาพุทธ เป็นผลจากการที่กุลบุตรได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา และจดจำเอาไปใช้ในเพศคฤหัสถ์ต่อไป
  6. ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วน คนเราที่เกิดมาเป็นคนไทยนั้นจำต้องมีหน้าที่ปฏิบัติต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในทางโลกนั้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อบ้านเมืองตามพระราชกำหนดกฏหมายก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อชาติและพระมหากษัตริย์ สำหรับผู้ที่อยู่ในศาสนาพุทธนั้น การบวชเป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อศาสนาอันสำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ที่ได้บวชจึงเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้ว


 ด้วยเหตุที่กล่าวมาแต่โดยย่อนี้ การบวชจึงเป็นของดี เป็นบุญกิริยาอันประเสริฐ และเมื่อสึกแล้ว การบวชก็จะเป็นอนุสรณีย์ประทับใจของบุคคล เป็นเครื่องนำความสุขบริสุทธิ์ และความสงบร่มเย็นให้แก่ตนได้ทุกเวลาที่ระลึกถึง

”



ที่มา : บันทึกบทธรรมบรรยาย จากภาคผนวก ๖ หนังสือในหลวงกับประชาชน วาระ ๔๕ ปี สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต (รายการวิทยุ แสดงธรรมโดย พระโสภณคณาภรณ์)