สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ที่พระราชวังดุสิต สถานีวิทยุเผยแผ่บทพระธรรมเทศนา เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงผนวช มีเนื้อหา ดังนี้
มรรคมีองค์ ๘
|
วันนี้จะได้กล่าวถึงมรรคมีองค์ ๘ หรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันจะเป็นทางที่จะไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง หนทางไปสู่ความดับทุกข์นี้ท่านมักจะเรียกโดยย่อว่ามรรคมีองค์ ๘ และมีผู้เรียกกันต่อไปโดยย่อต่อไปอีกว่่ามรรค ๘ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายว่า มรรคหรือทางไปสู่ความดับทุกข์นั้นมีอยู่ถึงแปดทาง แต่ความจริงมิใช่เช่นนั้น หนทางที่จะไปสู่ความดับทุกข์ได้นั้นมีอยู่ทางเดียว มิใช่แปดทางอย่างที่พึงจะเข้าใจผิดไปได้ ชั่วแต่ว่าบุคคลผู้เดินทาง ๆ เดียวนั้น จะต้องมีอาการและจิตใจพร้อมอยู่ด้วยองค์ ๘ ประการเสมอกันจึงจะบรรลุถึงความดับทุกข์อันเป็นจุดหมายปลายทางนั้นได้ องค์แปดแห่งมรรคนั้นมีอยู่ดั่งต่อไปนี้
- ๑สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
- ๒สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
- ๓สัมมาวาจา เจรจาชอบ
- ๔สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
- ๕สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพหรือชีวิตโดยชอบ
- ๖สัมาวายามะ พยายามชอบ
- ๗สัมมาสติ ระลึกชอบ
- ๘สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นโดยชอบ
องค์ที่ ๑ แห่งมรรคนั้นหมายถึงความเห็นอันถูกต้องในอริยสัจจ์ ๔ ประการ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือเห็นชอบในทุกข์ว่าความทุกข์ใดเป็นทุกข์ทางกายไม่มีผู้ใดที่เกิดมาแล้วระงับหรือหลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ชาติชรามรณะ และทุกข์ทางใจ ได้แก่โสกะปริเทวะ โทมนัสสะอุปายาส อัปปิยสัมปโยคและปิยวิปปโยค ตลอดจนความไม่ได้สมหวังตามความปรารถนาเห็นชอบต่อไปว่าทุกข์ทุกข์ทางกายนั้นมาจากกิเลศต่าง ๆ และความยึดเหนี่ยวเมื่อหมดกิเลศตัณหาและอุปาทานความยึดเหนี่ยวแล้ว ทุกข์ทางกายจะเหลือแต่เวทนาอันเป็นของธรรมดา แต่ทุกข์ทางใจนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะเราจะไม่เหี่ยวแห้งใจหรือคร่ำครวญใจ เมื่อเราสิ้นความกระหายความใคร่ และเมื่อเราต้องเสียหรือพลัดพรากจากของที่เราตัดเสียแล้วไม่ยึดเหนี่ยวไว้อีกต่อไป เมื่อได้เห็นชอบในทุกข์และเห็นชอบในทุกขสมุทัย คือเห็นตัณหาว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์แล้ว เราก็พึงเห็นชอบต่อไปว่า การดับตัณหาหรือทุกขนิโรธนั้นเป็นวิธิเดียวที่จะดับทุกข์ได้ ในที่สุดก็จะเห็นชอบในมรรค คือทางที่จะไปสู่ความดับทุกข์ทั้งหมด นี้เป็นลักษณะแห่งความเห็นชอบ และเมื่อมีสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นแล้ว สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบก็จะเกิดขึ้นตามมา
สัมมาสังกัปปะนี้พระบาลีแสดงออกไว้เป็น ๓ คือ เนกขัมมะสังกัปปะดำริในการออกจากทุกข์ คือความทุกข์ต่าง ๆ ทั้งทางกายและใจดั่งที่ได้แสดงมาแล้ว ต่อจากนั้นก็ถึง อัพยาปาทสังกัปปะ ดำริในการไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่นให้ได้ทุกข์ อวิหิงสาสังกัปปะ ไม่เบียดเบียฬผู้อื่นด้วยการกระทำให้ได้ทุกข์ สรุปแล้วความดำริชอบคือความดำริที่จะให้ตนเองพ้นจากทุกข์ และดำริที่จะไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่นและสิ่งมีชีวิตอื่นไม่ว่าจะเป็นทางใด ๆ เพราะผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิย่อมจะเห็นได้ว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวงมีทุกข์เป็นประจำอยู่แล้วทั้งสิ้น
องค์ที่ ๓ แห่งมรรคคือสัมมาวาจา การพูดชอบ ได้แก่การพูดที่เว้นจากวจีทุจริต ๔ คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดหรือใส่ร้ายผู้อื่น และไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
จากองค์ที่ ๓ ก็ถึงองค์ที่ ๔ แห่งมรรค คือสัมมากัมมันตะ ได้แก่การประกอบการงานทางกายที่เว้นจากกายทุจริต ๓ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ และไม่ประพฤติผิดในกาม เช่นผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
สัมมาอาชีวะเป็นองค์ที่ ๕ แห่งมรรคต่อจากการทำงานทางกายที่ชอบ หมายถึงการหาเลี่ยงชีพโดยชอบที่ไม่ทำให้ตนเองเป็นคนเลวลงไป และไม่ทำคนอื่นต้องเดือดร้อน แม้อาชีพใดที่สุจริตในลักษณะ แต่ผู้ประกอบอาชีพนั้น ใช้วิธีที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วยความโลภของตน อาชีพนั้นก็จัดว่าเป็น มิจฉาชีพ มิใช่สัมมาอาชีวะ
องค์ที่ ๖ แห่งมรรคคือ ความพยายามชอบได้แก่ ความพยายามให้ถึงพร้อมในองค์แห่งมรรคทั้งปวง อันมีสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้น
สัมมาสติอันเป็นองค์ที่ ๗ ต่อไป ได้แก่การระลึกชอบ คือระลึกอยู่ในสัมมาทิฏฐิหรือความรู้ความเข้าใจในอริยสัจจ์อยู่เป็นนิจ
องค์สุดท้ายแห่งมรรค คือสัมมาสมาธิได้แก่การตั้งจิตมั่นในอริสัจจ์ เกิดอารมณ์อันเดียวจดจ่ออยู่ที่อริสัจจ์ จนบังเกิดความรู้คือปัญญาดั่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้
องค์ต่าง ๆ แห่งมรรคนี้ ต้องมีพร้อมเพรียงเสมอกัน หากมีแต่บางองค์ หรือมียิ่งหย่อนกว่ากันก็จะไม่บังเกิดผลคือความพ้นจากทุกข์เปรียบเสมือนคนเดินไปตามทางเท้าต้องใช้อวัยวะต่าง ๆ ในตนให้พร้อมเพรียงกัน คือใจคิดที่จะเดิน ตาดูทางสังเกตที่ลุ่มดอนหรืออุปสรรคต่าง ๆ หูฟังเสียงที่จะบอกอันตราย เท้าต้องก้าวเดิน จึงจะไปถึงที่หมายได้ ผู้ที่ประสงค์จะเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ไว้ ก็ต้องมีอาการต่าง ๆ พร้อมเพรียงและเสมอกัน เป็นมัคคสามัคคี จึงจะไปถึงจุดหมายปลายทาง คือความรอดพ้นจากทุกข์ได้
|
|
|
ที่มา : บันทึกบทธรรมบรรยาย จากภาคผนวก ๖ หนังสือในหลวงกับประชาชน วาระ ๔๕ ปี สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต (รายการวิทยุ แสดงธรรมโดย พระโสภณคณาภรณ์)