เรื่องสติปัฏฐาน ๔

จาก วิกิคำคม

สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ที่พระราชวังดุสิต สถานีวิทยุเผยแผ่บทพระธรรมเทศนา เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงผนวช มีเนื้อหา ดังนี้

สติปัฏฐาน ๔
 

“ ได้กล่าวมาแล้วในวันก่อนว่า กิจ ๔ ของบุคคล อันมีต่ออริสัจจ์นั้น เฉพาะมรรคมีองค์ ๘ ท่านได้กล่าวไว้ว่า มคฺโค ภาเวตพฺโพ มรรคนั้นควรเจริญให้มากได้ตามกิจที่พึงปฏิบัตินั้น จำต้องมีสติปัฏฐาน คือการตั้งสติให้มั่น หมายความว่าระลึกได้แต่ในสิ่งที่ควรระลึกอยู่เสมอ และสิ่งที่ควรระลึกอยู่เสมอนั้นมีอยู่ ๔ อย่างคือ กาย เวทนา จิต และธรรม ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแยกสติปัฏฐานออกเป็น 4 คือ กายานุปัสสนา การพิจารณากาย เวทนานุปัสสนา การพิจารณาเวทนา จิตตานุปัสสนา การพิจารณาจิต แลธัมมานุปัสสนา การพิจารณาธรรม

 
 ธรรมดาคนเราที่เกิดมานั้น ต้องเห็นกายเป็นของสำคัญก่อนอื่น จะเรียกได้ว่าเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์และสัตว์ ที่จะต้องขวนขวายหาทางบำรุงกายให้มีสุขก็ได้ เราต้องหาอาหารการกินให้อิ่มเป็นเบื้องต้น เมื่อมีอาหารพอแล้้ว เราก็เริ่มหาวิธีที่จะปรุงให้อาหารนั้นมีรสอร่อยถูกปาก เราต้องหาเครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันร้อนเย็นเป็นเบื้องต้น แต่เมื่อสามารถผลิตเครื่องนุ่งห่มได้มากแล้ว เราก็ริทำให้เครื่องนุ่งห่มนั้นสวยงามมีสีสันและแบบต่าง ๆ เราต้องหาที่อยู่อาศัยพอหลบแดดฝนเป็นเบื้องต้น แต่เมื่อเรามีความเจริญมากขึ้น เราก็สร้างบ้านอยู่ให้สวยงามใหญ่โต ทั้งหมดที่พูดมานี้เป็นลักษณะแห่งการติดกายทั้งสิ้น การติดกายนี้มีผลทำให้เราลืมสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า เป็นต้นว่า ความจริงแห่งชีวิต และลืมพิจารณาดูว่า ชีวิตอย่างไรจึงจะถูกต้องสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณากายว่า กายของคนทุกคนนั้น เป็นของมีอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่ของยั่งยืน จะกินข้าวคลุกน้ำพริกหรือกินอาหารอันวิเศษ ในที่สุดก็ตายเท่ากัน จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าขาดวิ่น หรือแต่งกายด้วยแพรพรรณ ในที่สุดกายนั้นก็สลายไปเช่นเดียวกัน และจะอยู่กระท่อมผุพัง หรือยู่ตึกอันใหญ่ ในที่สุดก็ตายเหมือนกันทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้พิจารณาจนรู้จักกาย ว่ากายนี้ในที่สุดก็จะตายแล้วเปื่อยเน่าเหม็น เพื่อจักได้สิ้นความติดในกาย หมดความยึดเหนี่ยวว่าเป็นของเรา เห็นว่ากายนั้นก็เป็นกาย เป็นของอื่นนอกเหนือไปจากตัวเรา และเป็นสิ่งที่เราควบคุมไว้ไม่ได้ เป็นไปตามเรื่องของมัน นี่คือ กายานุปัสสนา
 
 ผู้ที่ติดกายแล้วย่อมจะลุ่มหลงกาย และหาความสุขใส่กายจนลืมสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าดังกล่าวมาแล้ว แต่ผู้ที่มิได้ติดกาย คือผู้ที่รู้ว่ากายนั้นจะต้องแตกดับเป็นแน่นอนนั่นเอง ก็ยังอาจติดสิ่งอื่นได้อีก คือติดเวทนา เวทนาคือความรู้สึกว่าสุขและทุกข์ บางคนเมื่อรู้ว่ากายจะต้องแตกดับเป็นแน่แล้ว ก็มุ่งแต่จะหาสุขเวทนา คือหาสุขใส่ตน เมื่อรู้ว่ากายนี้จะอยู่แต่เพียงชั่วคราว ก็หาสุขใส่ตนให้เต็มที่ทุกทาง ไม่คำนึงขอบเขตใด ๆ และไม่มีประมาณอย่างไรทั้งสิ้น และเมื่อไม่ได้สุขก็จะเดือดร้อน แต่บางคนเมื่อสิ้นความติดกายแล้วก็เกิดมีใจเป็นทุกข์ หรือมิฉะนั้นก็เพ่งแต่ทุกขเวทนาแต่อย่างเดียว เกลียดกายซึ่งเห็นแล้วว่ามิใช่ตนหรือของตนและเมื่อเกลียดแล้วก็ทรมานกายด้วยวิธีการต่าง ๆ ความทุกข์ความเดือดร้อนก็เกิดอยู่เป็นนิจ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้พิจารณาเวทนาให้เห็นว่าสุขกก็ตามทุกข์ก็ตามเป็นธรรมดาของชีวิต มิได้ให้ติดและลุ่มหลงทั้งสองอย่าง เมื่อสุขแล้วกก็มิใช่ว่าสุขนั้นจะยั่งยืน ย่อมจะหมดไป และต้องมีทุกข์มาแทนที่ แต่เมื่อมีทุกข์แล้วก็ใช่ว่าทุกข์นั้นจะมีอยู่ตลอดไป ย่อมจะสิ้นสุดลงและมีสุขมาแทนที่ ตลอดจนบางคราว เวทนานั้นก็เป็นกลางไม่สุขไม่ทุกข์ การพิจารณาความจริงเช่นนี้ ต้องทำเพื่อให้เห็นลักษณะอันแท้จริงของเวทนา เมื่อเห็นแล้วก็จะเห็นต่อไปว่า เวทนากับตัวเรานั้นแยกออกจากกันได้ มิใช่ของอันเดียวกัน ตัวเราก็เป็นตัวเรา เวทนาก็เป็นเวทนา ผู้ใดพิจารณาจนเห็นดังนี้ ก็ถึงแล้วซึ่งเวทนานุปัสสนา เป็นสติปัฏฐานอย่างหนึ่ง
 
 ผู้ที่พ้นจากการติดกายและติดเวทนาแล้ว ก็ยังอาจติดจิต คือมุ่งแต่จะทำจิตให้ดีให้สงบ โดยไม่พิจารณาว่าจิตนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรได้บ้าง การจะฝึกฝนสิ่งไรให้ดีโดยไม่รู้จักลักษณะและอาการที่แท้จริงของสิ่งนั้นก็ไร้ประโยชน์ เหมือนผู้ที่พยายามจะฝึกคนให้เป็นคนดี แต่ไม่รู้จักคนที่จะฝึกนั้นว่ามีดีชั่วอย่างไรในตัว ก็ย่อมจะฝึกให้ดีบริบูรณ์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงสั่งสอนให้ บำเพ็ญจิตตานุปัสสนา คือพิจารณาให้รู้อาการของจิต จิตมี ราคะ โทสะ โมหะ ก็ต้องรู้ในขณะนั้นว่ามี หรือขณะใดจิตไม่มี ราคะ โทสะ โมหะ ก็ต้องรู้ว่าไม่มีเช่นเดียวกัน ตลอดจนอาการของจิตอย่างอื่น ๆ ทุกประการจะมีหรือไม่ก็ให้รู้ ไม่ว่าอาการนั้นจะดีหรือชั่ว
 
 จิตนั้นจะดีจะชั่วอย่างไรก็สุดแล้วแต่ธรรม พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาธรรมจนรู้จัก เรียกว่าธัมมานุปัสสนา กล่าวคือธรรมนั้นมีธรรมชั่ว ธรรมอันเป็นกลางไม่ดีไม่ชั่ว และธรรมอันดี ธรรมอันชั่วนั้นได้แก่นิวรณ์ คือธรรมอันเป็นอุปสรรคมิให้บัลลุถึงความดี ได้แก่ความพอใจใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ความพยาบท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งสร้าน ความสงสัยลังเลใจ เหล่านี้เป็นธรรมอันชั่วทั้งสิ้น
 
 ธรรมอันไม่ดีไม่ชั่วนั้นได้แก่ขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ ซึ่งพอจะเรียกได้ว่า เป็นสิ่งประกอบกันทำให้เราได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ได้กลิ่น และได้ความรู้สึกต่าง ๆ อันเป็นธรรมดาแห่งชีวิต เมื่ออาการเช่นนี้เป็นธรรมดา จึงไม่ดีไม่ชั่ว ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ใช้ขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ นั้นเอง หากใช้ดีก็ดี ใช้ชั่วก็ชั่ว พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนมิให้ยึดถือธรรมเหล่านี้เป็นตัวตน ให้แยกไว้ต่างหาก เปรียบประดุจเป็นของนอกกาย ธรรมอันดีนั้นได้แก่โพชฌงค์ คือองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นธรรมที่เป็นปัญญา มีอยู่ ๗ ประการจะได้กล่าวถึงในคราวหลัง การพิจารณาจนรู้จักและระลึกมั่นอยู่ในธรรมเหล่านี้เป็น ธัมมานุปัสสนา ผู้ใดมีทั้ง กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสนา ก็เรียกได้ว่า ถึงพร้อมแล้วซึ่งสติปัฏฐาน ๔
 
 ได้กล่าวมาแล้วว่า องค์ ๘ แห่งมรรคนั้นเปรียบเสมือนอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ หู ตา และเท้าที่ต้องใช้พร้อมกันในการเดินทาง สติปัฏฐานจึงเปรียบเสมือนสุขภาพและกำลังกาย ซึ่งเมื่อมีแล้วก็จะทำให้ตาแจ่มใส หูไว เท้ามีกำลัง เดินตามทางอันบริสุทธ์ของพระพุทธเจ้าได้สะดวก และอาจถึงจุดหมายปลายทางได้แน่นอนยิ่งขึ้น

”



ที่มา : บันทึกบทธรรมบรรยาย จากภาคผนวก ๖ หนังสือในหลวงกับประชาชน วาระ ๔๕ ปี สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต (รายการวิทยุ แสดงธรรมโดย พระโสภณคณาภรณ์)