แปลก พิบูลสงคราม
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (14 กรกฎาคม ค.ศ. 1897 – 11 มิถุนายน ค.ศ. 1964) เป็นนักการเมืองชาวไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย
สุนทรพจน์[แก้ไข]
- 15 สิงหาคม พ.ศ. 2483 - ว่าด้วยการสู้กันของระบอบเก่าและระบอบใหม่
คำกล่าวบางส่วน[แก้ไข]
การยึดอำนาจจากพันตรี ควง อภัยวงศ์[แก้ไข]
หลังจากตั้งคณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 แล้ว โดยมีพันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าจอมพล ป. นั้นมิได้เต็มใจที่จะลาออก แต่ต้องออกเพราะสถานการณ์บังคับ จอมพล ป. ขณะนั้นยังมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และยังมีทหารจำนวนมากให้การสนับสนุนอยู่ ดังนั้น จึงเกิดความวิตกว่าจอมพล ป. จะเคลื่อนกำลังทหารจากลพบุรีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยึดอำนาจจาก พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี หลายฝ่ายในขณะนั้นจึงมีความเห็นว่า พ.ต. ควง ควรจะขึ้นไปพบจอมพล ป. เพื่อเจรจาทำความเข้าใจกัน จอมพล ป. ได้ให้การต้อนรับอย่างดี และได้มีข้อความยืนยันถึงเจตนาของตน ซึ่งต่อมาได้ลงประกาศอย่างกว้างขวาง ความว่า[1]
![]() |
ฉันขอแจ้งให้พี่น้องชาวไทยที่รักทราบว่า ตามที่มีผู้พูดว่า ฉันจะยกกองทัพเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพันตรีควง อภัยวงศ์ นั้น ฉันขอแจ้งว่าไม่มีมูลความจริงเลย เพราะฉันได้ลาออกมาแล้วตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เหตุใดเล่าฉันจะเข้าไปแย่งตำแหน่งจากพันตรีควง อภัยวงศ์ ซึ่งเท่ากับเป็นน้องชายที่รักของฉัน เมื่อพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้มาพบฉัน ก็ได้สนทนาอย่างญาติและมิตรที่สนิท ฉันตั้งจิตอธิษฐานขอให้รัฐบาลใหม่นี้ได้บริหารราชการให้สำเร็จสมปรารถนาต่อไป | ![]() |
— จอมพล ป. พิบูลสงคราม |
ความในใจก่อนสิ้นลม[แก้ไข]
เป็นคำพูดจากใจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรมไม่นาน ที่บอกต่อนายเจริญ กนกรัตน์ ซึ่งเป็นคนสนิทของนายสังข์ พัธโนทัย ที่เดินทางไปเยี่ยมท่าน ณ บ้านพักที่ตำบลซากามิโอโนะ ชานกรุงโตเกียว หลังจากที่ท่านถูกรัฐประหารไปในในปี พ.ศ. 2500 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเดินจดหมายระหว่างท่านกับ นายปรีดี พนมยงค์ ที่พักอยู่ ณ เมืองกว่างโจว ประเทศจีน เพื่อฟื้นความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีต่อกันในอดีต
ความตอนหนึ่งที่ จอมพล ป. ปรารภเรื่องบ้านเมืองว่า[2]
![]() |
ผมไม่เคยร่ำเรียนมาทางด้านเศรษฐกิจดอก
แต่ผมก็มีหลักการที่ได้มาจากการร่ำเรียนทางวิชาทหาร รักชาติ รักประชาชนนั้น ประการหนึ่ง ซื่อสัตย์ต่อบ้านเมืองเป็นอีกประการหนึ่ง ผสมกับประสบการณ์และเสียงของประชาชน คุณสังเกตประชาธิปไตยในช่วงสุดท้ายของผมหรือเปล่า? เสรีภาพในการพูด อย่างเช่นที่พวกนักไฮปาร์คเขาทำกันที่สนามหลวง หรือข้างทำเนียบ เคยมีปรากฏมาก่อนบ้างไหม? เรื่องความรักชาติเล่า? คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินได้ถูกขับไล่ให้หนีไปอยู่ในป่าแล้ว มีอะไรที่บ่งบอกเป็นสัญลักษณ์ของไทยที่มีอยู่ในตัวเมืองบ้าง? ผมเสียดายเขาพระวิหารเป็นที่สุด เมื่อผมบริหารอยู่ก็ไม่เคยมีปัญหาที่ว่านี้ เราเดินการทูตอย่างไร เราจึงสูญเสียของสำคัญของชาติไป ผมกับเจ้านโรดมสีหนุนั้น ก็มีไมตรีกันดีอยู่ วันเกิดของท่าน ผมก็ได้รับโทรเลขอวยพรเป็นการส่วนตัวไปทุกปี ท่านตอบมาอย่างไร คุณก็ได้เห็นอยู่แล้ว แค่เขาพระวิหาร แค่กระผีกของนครวัด ที่ไหนเจ้านโรดมจะไม่เห็นแก่มิตรภาพ การเป็นศัตรูจีนนั้นเล่า คุณก็ย่อมรู้ดีว่ามันเป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนประวัติศาสตร์ ฝืนข้อเท็จจริง มันย่อมมีโทษมากกว่าคุณ แค่เราเคาะประตู อันเป็นการยื่นมือออกไปสัมผัสเพียงห่าง ๆ จีนก็ได้ให้ความช่วยเหลือเราแค่ไหน ในฐานะผู้บริหารประเทศ เราจะหันหลังให้แก่ประโยชน์ของประชาชนได้อย่างไร ผมถูกสฤษดิ์เขาทำรัฐประหารเพราะเหตุอะไร ผู้สันทัดกรณีก็ย่อมรู้ การเมืองมันลึกลับซับซ้อนแค่ไหน? การที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนนั้น แม้จะเป็นความสำเร็จก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่า คณะเราส่วนใหญ่ยังมีฐานะเป็นไก่อ่อนสอนหัดอยู่ เราจึงถูกมรสุมซัดเอาถึงขั้นแพแตก คณะราษฎรจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ผู้ที่พอจะถือได้ว่าเจนจัดหน่อยก็มีท่านอาจารย์ นี้แหละ เพราะแนวที่ท่านร่ำเรียนศึกษาได้ปูลาดไว้ ผมเองก็เรียนมาทางทหาร สมาชิกส่วนอื่นก็มาจากเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน เราร่วมงานกันได้ก็เพราะความรักระหว่างเพื่อนฝูงโดยแท้ มันอาจเป็นทฤษฎีแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร แต่คณะเราก็ได้ปฏิวัติจนเป็นผลสำเร็จ ผมจะต้องกลับกรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้แหละ ผมจะไปสานต่อประชาธิปไตย และงานที่ทำค้างอยู่ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหน ผมจะให้คุณดูด้วยตาว่า ถ้าผมกลับกรุงเทพฯ เขาจะกล้าจับผมไปขังไหม? หรือว่า จะตั้งแถวรับ ยาวเหยียด? |
![]() |
ปราศัยทางวิทยุ[แก้ไข]
![]() |
การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงแต่ระบอบแล้วย่อมเป็นการเพียงพอ ยังต้องคอยควบคุมดูแลมิให้ถอยหลังกลับเข้าสู่ที่เดิมอีก ผู้เปลี่ยนการปกครองและประชาชนส่วนมากได้คอยควบคุมดูแลระบอบการปกครองใหม่ไว้อย่างดีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่วายมีบุคคุลหรือคณะบุคคลคอยพลิกแพลงให้กลับเข้าสู่ระบอบเดิม | ![]() |
— จอมพลแปลก พิบูลสงครามปราศรัยทางวิทยุในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2484 ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงความจำเป็นในการปราบปรามขบวนการต่อต้านการปฏิวัติ |
อ้างอิง[แก้ไข]
- ↑ 61 ปี ประชาธิปัตย์ยังอยู่ยั้งยืนยง โดย จรี เปรมศรีรัตน์ ISBN 9789747046724
- ↑ อำนาจ 2 ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ หน้า 123-125 ISBN 978-616-536-079-1