ข้ามไปเนื้อหา

ปรีดี พนมยงค์

จาก วิกิคำคม
พนมยงค์ใน พ.ศ. 2488

ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ,- 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย และผู้สำเร็จราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

คำพูด

[แก้ไข]
  • "การตั้งสถานศึกษา ตามลักษณะมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัย ในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยาม จะเจริญในอารยธรรมได้ ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอำนวยความประสงค์ และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษา ให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น"
  • "มหาวิทยาลัย ย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น"
  • "ในทางการเมือง การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริง ๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยาอันเป็นมูลฐานเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอโกอิสม์) ความสามัคคีธรรมหรือระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง จึงจะเป็นไปได้"

[1]

  • "ก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้ แต่เผอิญเข้าลักษณะของคำพังเพยโบราณว่า เป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ ผมก็ต้องผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อำนวยให้พูดออกบอกได้ ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของผม แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมิได้หยุดชะงักลงภายในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใด คือประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่าน และชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย"

[1]

  • "ตั้งแต่บรรพบุรุษสร้างชาติไทยเป็นต้นมา เราถือนโยบายเอกราชทางการคลัง ไม่เคยใช้นโยบาย "ภิกขาจาร" ปีใดเรามีงบประมาณรายได้มาก เราก็ใช้มาก ปีใดเรามีงบประมาณรายได้น้อย เราก็ใช้น้อยตามอัตภาพ ถ้าถึงคราวที่เราจำเป็นต้องลงทุน...เราก็กู้เงินโดยเสียดอกเบี้ยไม่มีอะไรผูกพัน ไม่ใช่เป็นการขอทาน"

[2]

  • "การเรียกร้องให้ปวงชนชาวไทยได้คืนสิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเป็นการต่อสู้โดยชอบ ธรรม (Just Struggle) สิทธิประชาธิปไตยเกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ประวัติศาสตร์แห่ง มนุษยชาติซึ่งเป็นประวัติของกฎหมายมหาชน (รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชน) ด้วยนั้น ปรากฎว่าในยุคดึกดำบรรพ์ กระบี่ (Anthropoid Ape) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกกึ่งลิงกึ่งคนได้พัฒนาเป็น มนุษยชาตินั้น มนุษย์รวมกันอยู่เป็นหมู่คนซึ่งมีหัวหน้าปกครองปวงชนอย่างแม่พ่อปกครองลูกจึงไม่มีการ เบียดเบียนลูก ชนในหมู่คนนั้นจึงมีเสรีภาพและความเสมอภาคกัน และมีจิตสำนึกในหน้าที่ว่าจะต้องใช้ สิทธิมิให้เสียหายแก่คนอื่นและแก่หมู่คน ต่อมาสิทธิประชาธิปไตยของมนุษย์ชาติได้ถูกยื้อแย่งไปโดยระบบทาสและระบบศักดินา คือผู้ มีอำนาจระบบทาสและระบบศักดินาคือผู้มีอำนาจในระบบทาสถือเอามนุษย์ที่อยู่ใต้อำนาจของตนให้มี ฐานะเหมือนสัตว์พาหนะของเจ้าทาส แล้วต่อมาผู้มีอำนาจในระบบศักดินาถือว่ามนุษย์มีฐานะเหมือนกึ่ง สัตว์พาหนะเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินา"

[3]

  • "ต้องใช้ปัญญาประกอบด้วยสติ เพื่อพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไว้ให้ได้ โดยป้องกันชาวไทยผู้รักชาติแท้จริงมิให้ตกหลุมพรางหรือกลวิธีใด ๆ ของ "กองกำลังแนวที่ 5" แห่ง "พวกกระหายสงคราม" "

[4]}}

  • "ต้องใช้ปัญญาประกอบด้วยสติ พัฒนาระบบปกครองของประเทศไทยให้บรรลุถึงซึ่งระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ และป้องกันชาวไทยผู้รักชาติแท้จริงมิให้หลงเชื่อการโฆษณาที่จะดึงการปกครองประเทศไทยให้ถอยหลังเข้าคลอง"

[5]

  • "ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ"

[6]

  • "การพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เป็นหน้าที่สูงสุดของคนไทยที่รักชาติ เพราะถ้าไม่สามารถพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไว้ได้ไซร้ ชาติไทยก็จะต้องตกเป็นเมืองขึ้นแบบเก่า หรือเมืองขึ้นแบบใหม่ (Neo-Colony) ของชาติอื่นซึ่งจะเป็นเหตุทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาการเมือง และการพัฒนาคติธรรมทางสังคม ต้องดำเนินไปภายใต้แนวทางและเพื่อประโยชน์ของชาติอื่น ที่เป็นเจ้าเมืองขึ้นแบบเก่าหรือแบบใหม่"

[7]

  • "คำว่าประชาธิปไตยนั้น มักจะเข้าใจความหมายกันผิดๆ ประชาธิปไตยแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ"

[8]

  • "ผู้อภิวัฒน์การปกครองของประเทศไทย หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นผู้มีคุณูปการแก่ชาติอย่างมากมาย แต่กลับกลายเป็นบุคคล ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ สุดท้ายกลายเป็น คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ"

[9]

คำพูดเกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์

[แก้ไข]
“ เมื่อถูกชี้ตัวแล้วท่านก็เรียกกระผมขึ้นไปตึกโดม ใช้เวลาโอ้โลมปฏิโลมเกลี้ยกล่อม ทดสอบน้ำใจหลายครั้ง จึงทราบว่ากระผมกับพวกก็กำลังดำเนินงานเพื่อกู้ชาติอยู่เช่นกัน ต่อมาเข้าพบท่านปรีดี ในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นประธานรัฐสภา ไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมจัดพิธีศพนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง จะต้องไปร่วมในการทำบุญตามประเพณีให้ได้ ไม่ว่าใครจะกล่าวอย่างไร ตนไม่ห่วงทั้งสิ้น เป็นเรื่องส่วนตัวที่ใครจะมาแตะต้องไม่ได้ ผมคงให้ความเห็นในฐานะประธานรัฐสภาไม่ได้ แต่ความเห็นส่วนตัวแล้ว รู้สึกสะเทือนใจที่ท่านต้องล่วงลับไป ท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ผมมีโอกาสเข้าศึกษาในขั้นอุดมศึกษา ถ้าไม่มีท่าน อาจจะทำให้ชีวิตทั้งชีวิตของผมไม่มีโอกาสศึกษาในขั้นอุดมศึกษาเลยก็ได้ ผมจึงมีความเสียใจอย่างมาก ”
จารุบุตร เรืองสุวรรณ
“ ก็เสียดาย ถ้าคุณพ่ออยู่ถึงวันนี้ก็อายุ 118 ปี คงเสียใจมั้งคะ กับสิ่งที่ได้ก่อสร้างเอาไว้ ท่านก็ถือหลักพุทธวจน สิ่งที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วดี ย่อมไม่สูญหาย แต่คุณพ่อก็ได้ก่อสร้างสิ่งดีๆไว้เยอะ ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ระลึกถึงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เราต้องฝากคนรุ่นใหม่ได้ดำเนินตามรอยของปรีดีแล้วสังคมไทยคงจะน่าอยู่ ”
ดุษฎี พนมยงค์

อ้างอิง

[แก้ไข]
  1. 1.0 1.1 อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 65
  2. อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 65 (คำขวัญเนื่องในวันสถาปนากระทรวงการคลังครบรอบ 100 ปี ค.ศ. 1975)
  3. ปรีดี พนมยงค์, "ข้อสังเกตบางประการของนายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 1974," ใน วิจารณ์ร่าง รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ จงเจริญ, 2517), หน้า 2-3.ทัศนะแบบนี้ ปรากฏในบทความอื่น ๆ ของเขาในทศวรรษ 2520 เช่นเดียวกัน อาทิ ปรีดี พนมยงค์,ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ: นิติเวชช์, 1974), หน้า 1-2; ปรีดี พนมยงค์, "บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย," ใน คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่อง ของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่ อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ๒๐ เมษายน ๑๙๗๔ (กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์, 2517),หน้า 100-101
  4. อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 63 (คำขวัญสำหรับบัณฑิตธรรมศาสตร์ ค.ศ. 1979)
  5. อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 64 (คำขวัญสำหรับบัณฑิตธรรมศาสตร์ ค.ศ. 1980)
  6. Paul, Pridi Through A Looking Glass, Asiaweek, 28 December 1979 - 4 January 1980
  7. อนุสรณ์ในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิ นายปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529, หน้า 65 (จากบทความภยันตรายแห่งสงครามปรมาณู)
  8. อำนาจ ๒ ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ ISBN 978-616-536-079-1 เมษายน ค.ศ. 2012 (พูดถึงระบอบประชาธิปไตย จากบ้านพักในนครกว่างโจว ประเทศจีน)
  9. งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2526 ชาวธรรมศาสตร์ได้ขึ้นภาพแปรอักษรเพื่อระลึกถึงปรีดีความว่า "พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ"

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้ไข]
w
w
วิกิพีเดีย มีบทความเกี่ยวกับ